ครม.ไฟเขียวแก้หนี้ 5 หมื่นราย คลังห่วงก่อหนี้เพิ่ม

25 ก.พ. 2565 | 14:42 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2565 | 21:47 น.
2.5 k

ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจแก้หนี้เกษตรกร 4 แบงก์รัฐ มรดกจาก คสช. กว่า 5 หมื่นราย หั่นวงเงินลงกว่า 4 พันล้าน เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ ระบุมี 2 แพ็กเกจ จ่ายเงินต้น 50% ตัดทิ้งดอกเบี้ย แบ่งจ่าย 3 ปี หรือปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้เดิม ก.คลังห่วง จูงใจเกษตรกรก่อหนี้เพิ่ม

พลิกแฟ้ม เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 26/2560 มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ พิจารณาศึกษาปัญหาการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การแก้ไขปัญหาหนี้สินและความเดือดร้อนของเกษตรกร และปัญหาการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เวลาผ่านมากกว่า 4 ปี และจะครบปีที่ 5 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

สไกล พิมพ์บึง

 

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนองค์กรและทะเบียนหนี้ ณ วันที่  30 มิถุนายน  2563 และเป็นหนี้ NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่เป็นลูกหนี้ของ 4 ธนาคารรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) รวม 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นกว่า 9,282 ล้านบาท ดอกเบี้ยสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวนกว่า 6,813 ล้านบาท 

 

 

 ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิก แบ่งเป็น 2 แพ็กเกจ แพ็กเกจแรก ทางสำนักงานฯ จะขอเงินงบประมาณที่ขอรับจัดสรรจากรัฐบาลเพื่อการชำระหนี้แทนเกษตรกร เป็นเงินต้น 50% เป็นการชำระหนี้แทนเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามโครงการ เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ และการจำแนกแยกประเภทหนี้ของเกษตรกร

 

 

โดยกฟก.จะชำระหนี้แทนเกษตรกรในอัตรา 50% ของหนี้เงินต้น กรณีลูกหนี้ต้องการให้ชำระหนี้แทนทุกราย จำนวน 50,621 ราย โดยชำระหนี้แทนเกษตรกรในอัตรา 50% ของหนี้เงินต้น จำนวนกว่า 4,641 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าใช่จ่ายอื่น (ถ้ามี) ซึ่งสถาบันเจ้าหนี้จะยืนยันข้อมูลเมื่อดำเนินการจริง โดยมีแผนดำเนินการระยะเวลา 3 ปี โดยแบ่งเป็น ปีที่ 1 ใช้งบกลางประจำปี 2565 1,000 ล้านบาท ส่วนในปีที่ 2 ใช้งบประจำปี 2566 วงเงิน  2,000 ล้านบาท และปีที่ 3 ใช้งบประจำปี 2567 วงเงินกว่า 1,641 ล้านบาท  รวมกว่า 4,600 ล้านบาท

 

เปิดโมเดลรัฐจัดสรรเพื่อชดเชย 4 สถาบันการเงิน

ส่วนแพ็กเกจที่สอง “ปรับโครงสร้างหนี้” โดยงบประมาณที่ขอรับจัดสรรจากรัฐบาลเพื่อชดเชยเงินต้น 50% ให้สถาบันเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ กลุ่มเป้าหมาย 50,621 ราย ขอรับการจัดสรรงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น กว่า 4,641 ล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยจำนวนกว่า 6,813 ล้านบาท เห็นควรให้ตัดทิ้งทั้งหมด หรือตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นสมควร โดยมีแผนดำเนินการระยะเวลา 3 ปี (กราฟิกประกอบ) ทั้งนี้ งบประมาณการชำระหนี้แทนอาจมีการปรับเปลี่ยนตามจำนวนของเกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะให้ กฟก.ชำระหนี้แทน แต่มีความประสงค์จะปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันเจ้าหนี้เดิม

 

นายสไกร กล่าวอีกว่า ผลดีของการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรสมาชิก กฟก.ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลดี คือ เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ช่วยลดปัญหาการละทิ้งอาชีพภาคการเกษตรและการโยกย้ายถิ่นฐานของเกษตรกรทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เพื่อไปหารายได้จากนอกภาคเกษตร

 

ยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล

 

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คนที่  1  และในฐานะแกนนำ สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.)  กล่าวว่า วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ 2 เรื่อง แรกก็คือ วงเงิน 2,000 ล้านบาท งบกลางปี 2565 (เม.ย.-ก.ย. 2565) จะแบ่งเป็น

 

 

  • งบเพื่อการจัดการหนี้ของเกษตรกร กว่า 1,500 ล้านบาท

 

  • งบเพื่อการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร กว่า  269 ล้านบาท

 

"เนื่องจากปี 2562-2564 รัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณประจำปีให้ หากไม่อนุมัติงบในครั้งนี้ทางสำนักงานฯ จะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานแล้ว มีหลายคนเคยคิดจะให้ ยุบ กฟก. ก็ไม่ได้ เพราะจะต้องออก พ.ร.บ.ฯ ยุบอีกฯ เมื่อปรึกษานายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้งบกลาง ผ่าน ครม.เห็นชอบ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้อนุมัติงบประมาณนี้ จากติดเงื่อนไขเกินสภาพคล่องที่เกินกว่า  1,000 ล้านบาท"

 

แต่ความจริงเป็นเงินที่สะสมจากการใช้หนี้คืนจากเกษตรกรกว่า 4,000 ล้านบาท ที่นำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าเกษตรกรไม่ได้คิดที่จะเบี้ยวหนี้ ต่างจากหน่วยงานอื่นที่ใช้งบประมาณแล้วหายไปเลย เป็นการช่วยผ่อนแรง สำหรับคนที่จะสิ้นแรงกับปัญหาหนี้สิน และเห็นอนาคตว่าสามารถปิดหนี้ โดยจะมี 2 แพ็กเกจ ข้างต้น ไม่เป็นภาระรัฐบาล

 

อนึ่ง กระทรวงการคลัง ตั้งข้อสังเกตการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาหนี้โดยให้ภาครัฐชำระหนี้แทนเกษตรกร อาจส่งผลต่อวินัยการก่อหนี้และการชำระหนี้ของลูกหนี้ (Moral Hazard) และจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะรู้ว่าเมื่อตนเองก่อหนี้แล้วไม่ต้องรับผิดชอบในการชดใช้คืน รวมทั้งอาจกระทบวงกว้างต่อหนี้รายย่อยทั้งระบบที่อาจจะขอรับการช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันได้

 

 

ดังนั้นควรพิจารณาแนวทางในการฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตควบคู่ไปกับการส่งเสริมการออมและการให้ความรู้ทางการเงิน เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวินัยการเงินของประเทศ

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,760 วันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565