กฟก.ลุยสางหนี้เกษตรกร คิวต่อไปอีก  4.9 แสนราย มูลหนี้เกือบแสนล้าน

16 เม.ย. 2564 | 02:10 น.
1.8 k

 

ปิดมหากาพย์ ซื้อหนี้เกษตรกรจาก 4 แบงก์รัฐ เตรียมชงครม.ของบกลาง กว่า 9 พันล้านให้กองทุนฟื้นฟูฯชำระหนี้แทนเกษตรกร 5 หมื่นราย จ่ายเฉพาะเงินต้น ตัดทิ้งดอกเบี้ย บอร์ดบริหารลั่น คิวต่อไป เล็งปลดหนี้  กว่า 4.98 แสนราย มูลหนี้ร่วมแสนล้าน 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 26/2560 มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ แก้ปัญหาหนี้สินและความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย จากวันนั้นถึงวันนี้ รวมระยะเวลากว่า 3 ปี มีความคืบหน้าตามลำดับ 

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ทางสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เห็นชอบกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรสมาชิก ในที่ประชุมมีมติออกมาเรียบร้อย

โดยที่ประชุมมีข้อสรุปให้ทางสำนักงานฯส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้ หรือช้าสุดคาดว่าจะเป็นต้นเดือนพฤษภาคม จะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คุณสมบัติเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนองค์กรและทะเบียนหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563  และเป็นหนี้ NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวนรวม 5.02 หมื่นราย ย ยอดหนี้เงินต้น จำนวน กว่า 9,282 ล้านบาท  ดอกเบี้ยสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน กว่า 6,813 ล้านบาท 

แยกเป็นสถาบันเจ้าหนี้  ประกอบ ด้วย  1.ธ.ก.ส. จำนวน 47,973  ราย หนี้เงินต้น กว่า 8,520 ล้านบาท ดอกเบี้ย กว่า 5,772 ล้านบาท  รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย และค่าใช้จ่ายอื่น (ถ้ามี) 

2. ธอส. จำนวน 2,008 ราย  หนี้เงินต้น กว่า 306 ล้านบาท ดอกเบี้ย กว่า 487 ล้านบาท บาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย และค่าใช้จ่ายอื่น (ถ้ามี) 3. ธนาคารออมสิน จำนวน 552 ราย หนี้เงินต้น กว่า 162 ล้านบาท  ดอกเบี้ย กว่า 173 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมายและค่าใช้จ่ายอื่น (ถ้ามี) และ 4. ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์ จำนวน 88 ราย หนี้เงินต้นกว่า 293 ล้านบาท ดอกเบี้ย กว่า 389 ล้านบาท  รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย และค่าใช้จ่ายอื่น (ถ้ามี) (ธพว.เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561)

กฟก.ลุยสางหนี้เกษตรกร  คิวต่อไปอีก  4.9 แสนราย  มูลหนี้เกือบแสนล้าน

ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวจะขอใช้งบกลาง 9,282 ล้านบาท ให้กองทุนฟื้นฟูฯชำระหนี้แทนเกษตรกร ให้เจ้าหนี้ เงินต้นร้อยละ 50 เป็นเงิน 4,641 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยเงินต้นให้เจ้าหนี้ ร้อยละ 50 เป็นเงิน 4,641 ล้านบาท สำหรับดอกเบี้ยตัดทิ้งทั้งหมด เกษตรกรลูกหนี้ต้องผ่อนชำระหนี้กองทุนฯ ให้ครบในระยะเวลา 5 - 15 ปี แนวทางดังกล่าว จะเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรสมาชิก 50,621 ราย 

 

“ผมเข้าใจหลายคนมองว่าการแก้ปัญหาให้แบบนี้กลัวพฤติกรรมการเลียนแบบ ถ้าผมเป็นคนหนึ่งที่มีทางออก ผมไม่มาหรอก มาก็เสี่ยง บางทีก็ต้องถูกบังคับให้มาม็อบด้วย หากผมมีเงิน ผมจะมาทำเรื่องน่ารำคาญทำไม ผมก็ชำระหนี้ตามปกติ แล้วก็กู้ใหม่ เรียกว่าสภาพคล่องในวงจรเกิด แต่วันนี้ไม่เกิด”

 

นายยศวัจน์ กล่าวอีกว่า  สำหรับเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนหนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 4.98 แสนราย มูลหนี้ 9.96 หมื่นล้าน (กราฟิกประกอบ) มีสิทธิ์ร่วมโครงการอยู่แล้ว แต่ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็น NPL ซึ่งการเป็น NPL จะดูเหมือนให้เกษตรกรไปผิดนัดชำระหนี้ถึงเข้าจะเงื่อนไข ยืนว่าไม่ใช่ แต่เราจะดูแลคนที่ไม่สามารถหาเงินผ่อนชำระได้จริง อีกด้านหนึ่งเกษตรกรก็ต้องหยุดพฤติกรรมของตัวเองอย่าไปสร้างหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหดมากไม่ควรทำ 

 

“วันนี้คุณเดินเข้ามาหากองทุนฟื้นฟูฯ ให้ความมั่นใจเลยว่าถ้าเป็นคนที่ทำมาหากิน คุณมีสิทธิ์ที่จะได้รับการชำระหนี้แทนเพื่อช่วยผ่อนเบาภาระหนี้สินบนบ่า แล้วรักษาที่ดินไว้ อย่าไปคิดขาย แล้วให้ส่งมอบต่อที่มรดกให้ทายาทรุ่นต่อไปได้พึ่งพิงอาศัยอาชีพเกษตรกร  ซึ่งในอนาคต 10 ปีข้างหน้า เราจะไม่ง้อเงินรัฐบาล และยังมั่นใจว่า หน่วยงานรัฐอาจจะต้องมาพึ่งพากองทุนฟื้นฟูฯ ในเรื่องของอาหาร และงบประมาณ ไม่ต่างจากที่วันนี้รัฐพึ่ง ธ.ก.ส. กู้เงินใช้ในการเดินนโยบายต่าง ๆ” 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564