รถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสีส้ม อลหม่าน! แก้เกณฑ์ TOR น็อค"คมนาคม"

12 ก.พ. 2565 | 09:08 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 16:23 น.
1.3 k

รถไฟฟ้า สายสีส้มฟาดกลับคมนาคม “ศาลปกครอง” เปิดข้อกฎหมายหลังรฟม.แก้เกณฑ์ทีโออาร์(TOR)-ล้มประมูลขัดกฎหมาย บีทีเอสลุยอุทธรณ์เอาผิดรฟม.-บอร์ดมาตรา 36 ขณะที่สายสีเขียวกทม.อ่วมแบกหนี้ไม่ไหวถูกฟ้องค่าเดินรถงานระบบ/รฟม.ทวงค่าก่อสร้าง

 

หลังจากวาระขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกระทรวงมหาดไทยถูกคัดค้านจากพรรคภูมิใจไทยได้เพียงหนึ่งวัน ล่าสุด ปมร้อนได้ตีกลับกระทรวงคมนาคมสำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม(มีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตรมูลค่า1.4 แสนล้านบาท เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล(ทีโออาร์)ว่า

 

มีพิรุธและขัดต่อกฎหมายตามที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เป็นโจทย์ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการร่วมลงทุนสายสีส้มในฐานะจำเลยโดยให้พิจารณาซองเทคนิคร่วมกับซองราคาสัดส่วนเทคนิค 30 คะแนนและราคา 70 คะแนนจากเดิมพิจารณาซองราคาเป็นเกณฑ์

 

ซ้ำร้ายกว่านั้นการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเป็นกระทำภายหลังจากการปิดขายซองให้กับภาคเอกชนและในเวลาต่อมาได้มีคำสั่งล้มประมูลโดยอ้างว่า เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าประเมินว่าคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวทำให้อีกคดีที่บีทีเอสมีแต้มต่อกรณีที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีน้ำหนักขึ้นทันที

 

ทั้งนี้หลายฝ่ายประเมินว่าปมร้อนทั้งสายสีเขียวและสายสีส้มกลายเป็นเกมทางการเมืองอันดุดันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมจนเกิดแรงกระเพื่อมนั้นเป็นเพราะอาจจะแบ่งเค้กก้อนมหึมาที่คาดว่าอาจจะยังไม่ลงตัว

 

สายสีส้มส่อลากยาว

                คำพิพากษาศาลปกครองกลางส่งผลให้รฟม.ต้องนำเกณฑ์ทีโออาร์เดิมกลับมาใช้เช่นเดียวกับการประมูลโครงการอื่นทั่วไปส่งผลให้สายสีส้มยังเดินต่อไม่ได้ และยังต้องสู้ศึกกันในชั้นศาลจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด ทำให้ส่งผลกระทบถึงการเปิดใช้เส้นทางสายสีส้มตะวันออกที่การก่อสร้างใกล้เสร็จ 100% และการเปิดให้บริการในปี 2566 จำเป็นต้องเลื่อนออกไปเพื่อรอสายสีส้มตะวันตกแล้วเสร็จ

 

เพราะผลของการมัดรวมการให้สัมปทานเดินรถมาไว้รวมกันในสัญญาเดียวนั่นเอง ผลการวินิจฉัยของศาล นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม.ระบุถึง การเปลี่ยนเเปลงหลักเกณฑ์การประมูลเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายนั้น มองว่า ไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่เห็นสำเนาเอกสารทั้งหมด จึงยังไม่สามารถให้คำตอบได้ส่วนขั้นตอนการดำเนินโครงการต้องรอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการตามมาตรา 36

รถไฟฟ้าสายสีเขียว-สายสีส้ม อลหม่าน! แก้เกณฑ์ TOR น็อค\"คมนาคม\"

ศาลปกครองชี้ปมพิรุธ

ย้อนรอยคดีประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 รายงานข่าวจากศาลปกครอง เปิดเผยถึงข้อพิพาทคดีสายสีส้ม ระหว่างบีทีเอสซี และรฟม. อีกทั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 คำวินิจฉัยศาลปกครองกลางในคดีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล สายสีส้มว่า ศาลเห็นว่าหลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิมได้กำหนดหลักเกณฑ์การตัดสินในแต่ละด้านไว้แล้ว ในส่วนเกณฑ์ด้านเทคนิค

 

ถือเป็นเกณฑ์ขั้นสูงแล้วที่กำหนดให้ต้องผ่านแต่ละด้าน 80 คะแนนและคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 85 ของทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลงานที่คุณภาพสูง ส่วนด้านราคารัฐต้องได้ประโยชน์สูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกเดิมของรฟม.เห็นชอบแล้ว

               

ทั้งนี้ตามมาตรา 38 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการคัดเลือกในการแก้ไขหลักเกณฑ์ ในส่วนที่คณะกรรมการและรฟม. อ้างว่ามีอำนาจอื่นๆ ในการแก้ไขหลักเกณฑ์นั้น ตามมาตรา 38(7) เป็นอำนาจเพื่อดำเนินการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นอำนาจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ โดยแท้เท่านั้น คณะกรรมการจึงไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรานี้แก้ไขหลักเกณฑ์ได้

               

ส่วนอำนาจตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ ที่อ้างว่าให้คณะกรรมการคัดเลือกและรฟม. สามารถแก้ไขหลักเกณฑ์ได้นั้น เห็นว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ใน RFP แม้ทำได้ แต่ก็ต้องไม่เกินขอบอำนาจตามประกาศดังกล่าว และการแก้ไขเป็นส่วนสาระสำคัญซึ่งมีผลต่องบประมาณแผ่นดิน จึงต้องดำเนินการเหมือนกับการกำหนดหลักเกณฑ์ฉบับแรก คือ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกและรฟม.ใช้เวลาเพียง 9 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือจากบมจ.อิตาเลียนไทยในการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก และไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของเอกชนก่อนจะแก้ไขหลักเกณฑ์แต่อย่างใด จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนจึงเห็นว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเป็นเกณฑ์ price performance เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เร่งประมูลสายสีส้ม

 

เบื้องต้นศาลเห็นสมควรพิจารณาดำเนินการดังนี้ 1.ให้เร่งรัดการดำเนินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลโดยเร็วที่สุด โดยใช้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดิม เพื่อระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้า 2.ในส่วนของความผิดและความเสียหายให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและหากพบผู้กระทำผิดก็ให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ในปัจจุบันสายสีส้ม ยังอยู่ในกระบวนการของศาลทั้งหมด 3 คดี 1.กรณีที่ศาลปกครองกลางยกคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย 500,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายที่บริษัทจัดจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคและที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ของสายสีส้มที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันบีทีเอสอยู่ระหว่างเตรียมหารือทีมกฎหมายดำเนินการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันหรือไม่

 

หลังจากศาลมีคำสั่งยกฟ้อง 2.กรณีที่ศาลปกครองพิจารณาเห็นว่ารฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยกเลิกการคัดเลือกประกวดราคาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 3.กรณีรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แก้ไขหลักเกณฑ์และยกเลิกการคัดเลือกประกวดราคา ซึ่งอยู่ระหว่างในกระบวนการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

 

ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

รายงานข่าวจาก บีทีเอสซี เผยว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้ถือเป็นการฟ้องร้องทางเทคนิคทางกฎหมาย เนื่องจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาศาลได้มีคำสั่งให้คู่ความเข้าฟังตุลาการผู้แถลงคดีดังกล่าว เบื้องต้นตุลาการมีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประกวดราคาเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 รายงานข่าวจากรฟม. กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องรอดูว่าผู้ฟ้องคดีจะยื่นอุทธรณ์ในกรณีที่ศาลยกฟ้องค่าเสียหายหรือไม่ ขณะเดียวกันคดีต่างๆ ที่อยู่ในชั้นศาลฯนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปิดประมูลสายสีส้ม เพียงแต่ว่าเวลานี้ที่ยังเดินหน้าประมูลไม่ได้ เนื่องจากต้องรอรายชื่อจากหน่วยงานตามข้อตกลงคุณธรรม (IP)

 

สายสีเขียวกทม.อ่วม

 

ฟากการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวที่ยังไม่สิ้นสุดจนกลายเป็นประเด็นที่กระทรวงคมนาคมค้านชนฝาไม่เห็นด้วย เพราะการกระทำของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ต้อง การต่อสัญญาสัมปทานให้บีทีเอส ออกไป 30 ปี เพื่อแลกกับการให้บีทีเอสรับภาระหนี้ไปทั้งหมดแทนนั้น ถือเป็นการผิดเงื่อนไขตามข้อกฎหมายหากกทม.จะต่อสัญญาสัมปทานต้องชำระหนี้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน