“เต็งหนึ่ง” ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ห่วงค่าครองชีพพุ่ง ฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

10 ก.พ. 2565 | 08:38 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2565 | 15:54 น.
2.5 k

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการสรรหาประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) คนใหม่แทน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ครบวาระ และน่าจะเป็นเรื่องดีที่ในครั้งนี้ไม่น่าจะมีการแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งกันดุเดือดเหมือนในอดีต

 

“เต็งหนึ่ง” ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ห่วงค่าครองชีพพุ่ง ฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

 

ล่าสุดตัวเก็งที่จะขึ้นมาเป็นประธาน ส.อ.ท.คนต่อไปคือ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  รองประธาน ส.อ.ท.ประธานสายงานส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม รับผิดชอบดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์

 

นายเกรียงไกร ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในช่วงโค้งท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานส.อ.ท.คนใหม่ ถึงมุมมองด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพ  กำลังซื้อ และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในยุคที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

ห่วงค่าครองชีพประชาชนพุ่ง

นายเกรียงไกร มองภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า ภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่อาจจะชะลอการอุปโภคบริโภคลง และจะระมัดระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น มาจากการเร่งตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึง ราคาถ่านหิน และราคาก๊าซธรรมชาติโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน  เนื่องจากภาคการผลิตประเทศต่าง ๆ หยุดชะงักหรือชะลอไปในช่วงโควิดที่ระบาดรุนแรง ประกอบกับความต้องการซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจหลายประเทศทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป เป็นต้น

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปค)ยังเพิ่มปริมาณการผลิตได้อย่างจำกัดและมีแนวโน้มไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ภายในประเทศยังมีสินค้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตรที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะเนื้อหมู ที่เกิดปัญหาโรคระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้จำเป็นต้องกำจัดสุกรที่มีความเสี่ยงจำนวนมากเพื่อควบคุมโรค ยิ่งกดดันให้ปริมาณสุกรขาดตลาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงราคาปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น อีกทั้งต้นทุนทางการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนจากราคาค่าขนส่งทางเรือ หรือ ค่าระวาง (Freight Rate) ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน ประกอบกับ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เป็นปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ขณะที่เวลานี้ระดับราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2565 จะอยู่ที่ 1.7% โดยมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี แต่โอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องยังมีไม่มากจากความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยังจำกัดจากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังเปราะบางอยู่

 

 

“เต็งหนึ่ง” ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ห่วงค่าครองชีพพุ่ง ฉุดเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

 

อย่างไรก็ตามในปี 2565 ประเมินว่าการว่างงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์โอมิครอนที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ จึงคาดการณ์ว่าการส่งออกจะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก จะช่วยสนับสนุนความต้องการแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลักสอดคล้องกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยรายงานช่วงวันที่ 17 มกราคม 2565 ระบุว่า ตลาดแรงงานโลกจะใช้เวลาในการฟื้นตัวมากกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยการว่างงานจะยังคงอยู่เหนือระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 จนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย

 

หวั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

นายเกรียงไกร ระบุยังมีความกังวลเรื่องกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ชะลอการอุปโภคบริโภคลงอย่างมาก และประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย จะซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น สะท้อนผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และอาจมีแนวโน้มที่ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งยังกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไปมากขึ้นอีก

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอก อย่างความผันผวนของตลาดการเงินโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอาจมีการดำเนินนโยบายทางการเงินในทิศทางที่ตึงตัวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การลดการทำ QE และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น เพื่อให้ทันกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รวมถึงเศรษฐกิจไทย และจะสร้างความผันผวนต่อตลาดเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระยะข้างหน้า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้ อาจซ้ำเติมภาพรวมของกำลังซื้อภายในประเทศ

 

ท้ายที่สุด จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายหรือมาตรการพยุงเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็น เพื่อประคับประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยให้ฟื้นตัวได้ทันกับภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ต้องเร่งร่วมมือกับรัฐ

สำหรับภารกิจสำคัญที่ส.อ.ท.ต้องเร่งดำเนินการโดยร่วมมือกับภาครัฐในแง่ของตัวแทนภาคเอกชนระยะสั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักคือ 1. Made in Thailand ที่ต้องการสนับสนุนสินค้าไทยให้เพิ่มประสิทธิภาพและสามารถไปแข่งขันยังต่างประเทศได้ 2. การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านของการผลิตเพื่อทำให้สามารถที่จะต้นทุนการผลิตและเวลาที่ใช้ในการผลิตลง รวมทั้งสามารถเพิ่มคุณภาพได้อีกด้วย 3. Supply chain  Financing ที่ ธปท.ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์จัดทำโครงการ Digital Supply Chain มาเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการทำ Invoice Factoring เพื่อจัดหาเงินทุนของกิจการได้จากแหล่งที่ สะดวก มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และน่าเชื่อถือมากขึ้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง

 

ส่วนการร่วมมือระยะยาว คือการพัฒนาในเรื่องของการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อทำให้ปริมาณและคุณภาพของการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงการฝึกพนักงานให้รู้จักการ Upskill และ Reskill เพื่อทำให้ทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพของสินค้าและบริการสูงขึ้นตามไปด้วย

 

สุดท้ายสิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล คือ ในปี 2565 นับว่าเป็นปีที่ท้าทายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงออกมาตรการเพิ่มเติมให้กับภาคท่องเที่ยว บริการ โรงแรม เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวอย่างจำกัด นอกจากนี้ควรออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน และค่าสาธารณูปโภคต่างๆเพื่อช่วย ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

 

 หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3756 วันที่ 10 – 12 กุมภาพันธ์  2565