เอกชนรับลูกบิ๊กตู่-COP26 สภาอุตฯ-สภาหอฯ สั่งลุย “ลดโลกร้อน”

19 พ.ย. 2564 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2564 | 00:16 น.
648

เอกชนตื่นลดโลกร้อน ส.อ.ท.ดัน 45 กลุ่มอุตฯลุยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตลดปล่อยก๊าซคาร์บอน สภาหอฯ ชู BCG โมเดล พร้อมถอดบทเรียนทำเป็นคู่มือแจกสมาชิกนำไปปรับใช้ ม.หอการค้าฯชี้เป้าหมายไทยปล่อยก๊าซฯเป็นศูนย์ ต้องออกกฎหมายบังคับ

 

การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาติ (UN) หรือ COP26 ณ เมือง กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญเกิดขึ้น เช่น สหรัฐฯและจีน สองมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากสุดของโลกได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และผู้นำจากกว่า 100 ประเทศที่มีพื้นที่ป่ารวมกันคิดเป็น 85% ของป่าไม้โลก รับปากจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 และเห็นชอบโครงการลดการปล่อยมีเทนลง 30% ภายในปี 2030 และมากกว่า 40 ประเทศ รวมถึงประเทศที่ใช้ถ่านหินรายใหญ่ เช่น โปแลนด์ เวียดนาม ชิลี เห็นชอบที่จะยกเลิกการใช้ถ่านหิน

 

ในส่วนของไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ COP26 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ถือเป็นการคิกออฟส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยต้องเร่งลงมือปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ให้ไว้กับชาวโลก

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังการประชุม COP26 สิ้นสุดลง ส.อ.ท. ได้ส่งสัญญาณให้สมาชิกทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้มีความตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เป็นวาระของโลก และวาระของไทย และจากนี้ไปกลุ่มอุตสาหกรมต่าง ๆ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมของ ส.อ.ท.เพื่อช่วยวางแผนให้สมาชิกในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกจะต้องวางแผนรับมือกฎกติกาของประเทศคู่ค้าที่จะนำประเด็นโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มมากขึ้น

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“ล่าสุดสหภาพยุโรปหรืออียู เตรียมนำ CBAM (มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู โดยผู้นำเข้าสินค้าจะต้องซื้อใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมหรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยก๊าซ ซึ่งอาจผลักภาระมายังผู้ส่งออก) มาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 รวมถึงการบังคับติฉลากคาร์บอน ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ส่งออกของไทย แต่เราต้องเร่งปรับตัวเพราะกฎกติกาโลกไปในทิศทางนี้และมาตรการต่างๆ เริ่มออกมาชัดเจนมากขึ้น”

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องลดโลกร้อนเป็นประเด็นที่ประเทศคู่ค้าจะนำมาออกเป็นกฎกติกาเพื่อใช้เป็นมาตรการทางการค้าที่อาจนำไปสู่การกีดกันทางการค้าได้ จากหลายประเทศในยุโรปได้เตรียมบังคับคู่ค้าติดฉลาก-เก็บภาษีคาร์บอน ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 20% (ขึ้นกับธุรกิจ/ อุตสาหกรรม) แต่อีกมุมหนึ่งหากผู้ประกอบการของไทยสามารถทำได้ตามกฎกติกาจะส่งผลบวกต่อสินค้าไทย เพราะจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคในต่างประเทศมากขึ้น

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

อย่างไรก็ดี ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯได้มีแนวทางให้สมาชิกทั่วประเทศ (มีกว่า 1 แสนราย)ดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ BIO-CIRCULAR-GREEN หรือ BCG (ชีวภาพ หมุนเวียน สีเขียว) เพื่อลดโลกร้อนแก่สมาชิก โดยมีการส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งให้ความรู้ แนะนำแนวทางผ่านกิจกรรมต่าง ๆ นำร่องด้วยการจัดทำโมเดล BCG คือนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในธุรกิจบริการ ลดการทิ้งของเสียและนำวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการจัดการด้าน Food waste และ Plastic waste ในซัพพลายเชนธุรกิจท่องเที่ยว และจะถอดบทเรียนทำเป็นคู่มือเพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ได้

 

“การนำแนวคิด BCG มาใช้ดำเนินธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดโลกร้อน ขณะเดียวกัน ณ ปัจจุบันมีผู้ส่งออกสินค้าไทยหลายร้อยรายได้เริ่มดำเนินการให้หน่วยงานรับรองคือ อบก.(องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) ตรวจวัดการปล่อยก๊าซและให้การรับรองฉลากคาร์บอนเพื่อสร้างทางเลือกผู้บริโภค ซึ่งเวลานี้มีหลายสินค้ามีการติดฉลากคาร์บอนในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก ๆ เช่น สินค้าเกษตร อาทิ น้ำตาล รวมถึงสินค้าด้านปศุสัตว์ เป็นต้น โดยที่รับรองแล้วมีมากกว่าพันรายการ”

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นศูนย์ในปี 2065 จะประสบความสำเร็จได้มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เช่น ระดับประเทศต้องมีกฎหมายและบังคับให้แต่ละภาคการผลิตจัดทำและรายงานก๊าซแต่ละประเภทที่ปล่อยก๊าซออกมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือ, มาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อให้ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG), ภาคการผลิตต้องติดฉลากปริมาณของการปล่อยก๊าซ ที่ก่อให้เกิด GHG, ภาคการผลิตต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตตามมาตรฐานสากล เช่น อุตสาหกรรมยางพาราปรับตามมาตรฐาน FSC (มาตรฐานการดูแลป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม) และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปรับตาม RSPO (มาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน) เป็นต้น

 

 

เอกชนรับลูกบิ๊กตู่-COP26 สภาอุตฯ-สภาหอฯ สั่งลุย “ลดโลกร้อน”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3733 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2564