สภาอุตฯ ย้ำไทยฐานผลิตรถยนต์เบอร์ 1อาเซียน ชิปขาดแคลนยังปัญหาใหญ่

31 ต.ค. 2564 | 08:11 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2564 | 16:10 น.
1.5 k

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกุล่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ให้สัมภาษณ์ ผ่านคอลัมน์ พื้นที่นี้ Exclusive ฉายภาพให้เห็นศักยภาพของไทยที่ยังคงเป็นฐานการผลิตรถยนต์แหล่งสำคัญของโลก และท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แต่ไทยยังคงเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน

 

วิกฤติโควิด-19 ยังคงสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการอุตสาหกรรมหลายประเภทที่มีชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนประกอบที่กำลังขาดตลาด และยังคงเป็นปัญหาใหญ่ต่อเนื่องไปทั่วโลก มีผลกระทบต่อไลน์ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และไอที ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเลต ฯลฯ ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่แบรนด์ดังต่างเร่งปรับแผนการผลิตและแผนการตลาดใหม่ เพื่อรับมือกับการบริหารต้นทุนที่จะสูงขึ้น อาจต้องบริหารความเสี่ยงนี้ยาวต่อไปอีกเป็นปี  

 

ต่อเรื่องนี้นายสุรพงษ์   ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความกังวล และผลกระทบ รวมถึงสถานะของฐานการผลิตรถยนต์ในไทยและอาเซียน

 

สุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์

 

พิษโควิดระบาดต้นเหตุหลัก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หากถามว่าตัวแปรสำคัญของความกังวลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น​เรื่อง​การ​ระบาด​ของ​โค​วิด-​19 ​เป็น​อันดับ​แรก เพราะเป็น​ต้น​เหตุ​ให้​เกิด​การ​ขาดแคลน​ชิ้นส่วน​ยานยนต์​และ​สินค้า​อื่น​ ๆ​ จาก​การ​ล็อก​ดาว​น์ และ​ยังห้าม​ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอีกหลายด้าน ที่​ทำให้​ประชาชน​เดือดร้อน​ขาด​รายได้​ เศรษฐกิจ​ยังตกต่ำ​ 

 

“ที่​กังวล​เรื่อง​นี้​เพราะ​ยัง​ไม่​ทราบ​ว่า​โควิด​จะ​จบ​ลง​เมื่อไร​ เพราะ​วัคซีน​ที่​หวัง​กัน​ก็​ยัง​ปราบ​ไม่ได้​กับ​โควิด-​19 ​ที่​กลายพันธุ์​ไปเรื่อย​ ๆ​ เป็น​เรื่อง​เกี่ยวกับ​สุขภาพ​และ​ชีวิต​ของ​มนุษย์​ซึ่ง​ต้อง​อาศัย​ความร่วมมือ​จาก​ประชาชน​ทุกคน​ใน​ทุก​ประเทศ​เพื่อ​ควบคุม​การ​ระบาด​ให้​น้อยที่สุด​”

 

สภาอุตฯ ย้ำไทยฐานผลิตรถยนต์เบอร์ 1อาเซียน ชิปขาดแคลนยังปัญหาใหญ่

 

 

“ชิป”ไม่ขาดแคลนรออีก 4 ปี

ประการถัดมา ที่​ยัง​กังวลคือ การขาด​แคลน​ชิป​หรือ​เซ​มิ​คอน​ดัก​เตอร์​ ซึ่ง​ก็มา​จาก​การ​ระบาด​ของ​โค​วิด​-19 ​ที่​ทำให้​โรงงาน​ผลิต​รถยนต์​ทั่วโลก​ปิด​โรงงาน​ชั่วคราว ​เพื่อ​ควบคุม​การ​ระบาด​ของ​โค​วิด-​19 ​เมื่อ​ต้นปี​ 2563​ จึง​หยุด​สั่งซื้อ​ชิปจากผู้​ผลิตชิป รวมทั้ง​บริษัท​เกือบ​ทั่วโล​ก​ให้​พนักงาน​ทำงาน​ที่​บ้าน​ หลายโรงเรียน​มหาวิทยาลัย​ก็​ให้​นักเรียน​นักศึกษา​เรียน​จาก​ที่​บ้าน​จึง​ทำให้​มี​ความต้องการ​ใช้​แล็ปท็อป​ และคอม​พิวเตอร์​มาก​ขึ้น​

 

เวลานี้​หลาย​ประเทศ​ผ่อนคลาย​ล็อกดาว​น์ รัฐบาลทั่วโลกเริ่ม​ให้​มี​การ​ดำเนินการ​ทาง​เศรษฐกิจ​มากขึ้น​ ประชาชน​มี​รายได้​มาก​ขึ้น​ รถยนต์​เริ่ม​ขาย​ได้ ​ตั้งแต่​ไตรมาส​ที่ ​3 ของ​ปี​ 2563 ​แต่​ผู้​ผลิต​ชิป​มีคำสั่ง​ซื้อ​จากสินค้า​คอม​พิวเตอร์​ มือถือ​ ไฟฟ้า​อิเล็กทรอนิกส์​เพิ่ม​ขึ้น​ก่อนหน้านี้​แล้ว​ จึง​ผลิต​ชิปส่ง​ให้​ผู้​ผลิต​รถยนต์​ได้​ไม่​เต็มที่​ ​และ​เริ่ม​ขาดแคลน​เป็น​ระยะ​ ๆ ​ตั้งแต่​ต้นปี​ 2564​ ทำให้​โรงงาน​ผลิต​รถยนต์​ทั่วโลก​รวมทั้ง​ใน​ไทย​ต้อง​ชะลอ​ผลิต​รถยนต์​บาง​รุ่น​ออก​ไป​ตาม​ระยะ​เวลา​ที่​ขาดแคลน​จนประธานาธิบดีไบเดนของ​สหรัฐอเมริกาสั่งให้​ตรวจสอบ​ห่วงโซ่​ของ​การ​ผลิต​ชิป​และ​ได้​จัดงบ​ลงทุน​ด้าน​นี้​พร้อม​ทั้ง​เชิญ​ชวน​ให้​ผู้​ผลิต​รายใหญ่​เข้า​ไป​ลงทุน​ใน​สหรัฐฯ

 

ขณะที่​ผู้​ผลิต​ชั้นนำ​ด้าน​นี้​ประกาศ​เงิน​ลงทุน​จำนวน​มาก​ไปตั้ง​โรงงาน​ในประเทศ​ต่าง ​ๆ ​ซึ่ง​กว่า​จะ​เสร็จ​และ​ผลิต​ได้​คงต้อง​ใช้เวลา ​3-4 ปี​ เพราะ​ฉะนั้น​การ​ขาดแคลน​ชิป​จึง​ยัง​รุนแรง​อยู่​ คาด​ว่า​จะ​ทำ​ให้​ทั่ว​โลก​ผลิต​รถยนต์​ต่ำกว่า​เป้าหมาย​หลาย​ล้าน​คัน​

 

 “การ​ขาดแคลนชิปจะ​ค่อย​ๆ ลดลง​ตาม​การ​เร่ง​ผลิต​ของ​ผู้​ผลิต​ การ​ลดลง​จาก​การ​ทำ​งาน​จาก​บ้าน​ การเรียนทาง​ไกล​ อีก​ 4 ปี​ก็​คง​มี​ชิป​เพียง​พอกับ​ทุก​อุตสาหกรรม​เมื่อ​โรงงานผลิต​ชิปสร้าง​เสร็จ”​

 

ไทยฐานผลิตรถแถวหน้าโลก

หากถามว่า ไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญของยานยนต์ต่อไปหรือไม่ นายสุรพงษ์ ฉายภาพให้เห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกต่อไป  โดย เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ไทยอยู่อันดับที่ 11 ของโลกที่ผลิตรถยนต์มากที่สุด และปีที่แล้ว (2563) ที่เกิดการระบาดของโควิด ไทยก็ยังอยู่อันดับที่ 11 ของโลกที่ผลิตรถยนต์ได้มากที่สุด แต่ละปีประเทศไทยส่งออกรถยนต์กว่า 1 ล้านคันไปทั่วโลกในกว่า 100 ประเทศ

 

นอกจากนี้ไทยยังเป็นศูนย์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่งออกไปทั่วโลกด้วย  ซึ่งยานยนต์และชิ้นส่วนส่งออกมีมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาทมาหลายปีแล้ว และเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2564 มีทั้งสิ้น 140,038 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 6.43% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีนี้ 34.47% เพราะได้รับชิปและชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศคู่ค้าที่ผ่อนคลายการล็อกดาวน์และเริ่มส่งออกได้เพิ่มขึ้น โรงงานผลิตรถยนต์จึงผลิตเพื่อส่งออกและผลิตขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมปีนี้ 28.56% และ 40.16% ตามลำดับ

 

ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - กันยายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,211,946 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - กันยายน 2563 ราว 26% โดย 9 เดือนแรกปีนี้ไทยผลิตและส่งออกรถยนต์แล้ว 677,481 คัน

 

 “ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้กระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวเมื่อเดือนที่แล้ว ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบส่งออกมีมูลค่า 25,290.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยัง เติบโต 34%”

 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน ไทยก็เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้โดยปี 2562 ไทยผลิตรถยนต์ 2,167,694 คัน สัดส่วน 49.61% ของยอดผลิตรถยนต์ทั้งอาเซียน 4,368,870 คัน และ 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยผลิตรถยนต์ 1,071,908 คัน สัดส่วน 48.72% ของยอดผลิตของอาเซียน 2,199,907 คัน

 

 สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในอาเซียนรองจากไทย คือ อินโดนีเซียซึ่งจะผลิตปีงบประมาณ 1.2-1.4 ล้านคัน อันดับสาม ประเทศมาเลเซียผลิตปีละ 5-7 แสนคัน อันดับสี่ เวียดนาม ผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปีละ 2-4 แสนคัน อันดับห้า ฟิลิปปินส์ ผลิตปีละ 1-2 แสน คัน

 

 “ประเทศไทยผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับ 11 ของโลกมาหลายปี ชิปขาดแคลนเกิดกับผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกยี่ห้อทั่วโลก จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบ ปีที่แล้วผมยังคิดว่าน่าจะอยู่อันดับ 10  แต่รัสเซียซึ่งผลิตน้อยกว่าไทยเล็กน้อยทุกปีผลิตลดลง 17% ไทยลดลง 29% เราน้อยกว่าแค่ 8,261 คัน จึงอยู่อันดับ 11”

 

เร่งบริหารความเสี่ยง

นายสุรพงษ์ กล่าวช่วงท้ายว่า การบริหารความเสี่ยงช่วงชิปขาด อาจต้องเลิก just in time หันมาสต๊อกมากขึ้น เอาชิปที่ใช้ได้หลายรุ่นไปใส่ในรุ่นที่ขายดีก่อน  จากที่ติดตามความเคลื่อนไหวจากวงการยานยนต์ในต่างประเทศ   และระยะยาวหลายประเทศเร่งให้ลงทุนผลิตชิปมากขึ้นไม่ว่าสหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพราะมีความสำคัญต่อความมั่นคง อุตสาหกรรม การเงิน การบันเทิง ความเป็นอยู่ของประชาชน  และไม่อยากนำเข้าชิปแล้วเพราะเสี่ยงมาก ยิ่งรถยนต์ไฟฟ้าอาจใช้ชิปมากขึ้นสิบเท่า

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,727 วันที่ 31 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564