ของแพงนานอย่างน้อย 3 เดือนถึงสิ้นปี ส.อ.ท. จี้รัฐลดค่าไฟ-ประปา-ภาษี

07 ก.พ. 2565 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2565 | 16:06 น.

ของแพงนานอย่างน้อย 3 เดือนถึงสิ้นปี ส.อ.ท. จี้รัฐลดค่าไฟ ประปา ค่าเดินทาง ภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ ช่วยค่าครองชีพประชาชน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 14 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้หัวข้อ “สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร” พบว่า

 

ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ 

 

และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไป อย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1 – 2 เดือนเท่านั้น 

 

ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง รวมทั้ง ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในช่วงนี้ 
 

 

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 2–4% 

 

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 14 จำนวน 6 คำถาม ประกอบด้วย 


1. ปัจจัยใดส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ 

 

  • ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น   76.7%
  • ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น      74.0% 
  • ค่าขนส่งที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง     63.3% 
  • ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และภาระค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น   51.3%

 

2. ภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานแค่ไหน

 

  • 3 - 6 เดือน      35.3% 
  • 6 - 12 เดือน      34.7%
  • มากกว่า 1 ปี      30.0%

3. มาตรการใดมีประสิทธิภาพในการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

 

  • ลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง   75.3%
  • ลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ 74.7%         
  • ตรึงราคาน้ำมัน ไม่ให้มีผลต่อต้นทุนสินค้า    66.0%
  • มาตรการใช้จ่ายลดค่าครองชีพ เช่น คนละครึ่ง    59.3%

 

4. ภาคเอกชนจะช่วยเหลือประชาชนในการตรึงราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นได้นานเท่าไร 

 

  • 1 - 2 เดือน      40.0% 
  • 3 - 4 เดือน      30.7%  
  • มากกว่า 6 เดือน      16.7% 
  • 5 - 6 เดือน 12.6%

 

ราคาสินค้าแพงจะยาวนานไป อย่างน้อย 3 เดือน

 

5. เอกชนควรปรับตัวรับมือกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวอย่างไร

 

  • นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์  77.3%      
  • นำระบบบริหารจัดการมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เช่น LEAN, ไคเซ็น  61.3%     
  • ปรับกลยุทธ์เน้นตลาดต่างประเทศ และการแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ  54.0%
  • เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์    50.0%

 

6. อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะอยู่ในระดับใด 

 

  • เพิ่มขึ้น 2-4 %      58.0%  
  • เพิ่มขึ้นมากกว่า 4%     23.3%
  • เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2%     18.7%