บีโอไอปลุกลงทุน 6 แสนล้าน ชู 3 บิ๊กอุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ-อีอีซี

03 ก.พ. 2565 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2565 | 00:55 น.

บอร์ดบีโอไอ เปิดแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยปี 2565 เห็นสัญญาณบวก หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น จับตาการลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงลงทุนพื้นที่อีอีซี

3 ก.พ.2565 - น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 2565 ตอนนี้เห็นสัญญาณบวก หลังการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังไปได้ดี มีการขยายตัว การส่งออกยังคงมีความต้องการในตลาดโลกมากขึ้นก็น่าจะมีการขยายกำลังการผลิตต่อ และจะเกิดการลงทุนเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ประเมินว่า หมวดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่น่าจะเติบโตในปีนี้ มีด้วยกันในเบื้องต้น 3 หมวด คือ 1.เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะขยายตัวต่อไปตามแนวโน้มความต้องการและกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

 

2.อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพ โดยจะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูง แต่จะเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีสูง 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่น่าสนใน และคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น

“บีโอไอไม่ได้นำเสนอตัวเลขเป้าหมายยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ให้กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณา แต่คาดว่าถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว และเศรษฐกิจโลกยังดีอยู่ เชื่อว่าตัวเลขน่าจะไปได้ดีกว่าในปี 2564 ที่มีสถิติการขอรับการส่งเสริม มูลค่ารวม 6.42 แสนล้านบาท หรือใกล้เคียงกัน” น.ส.ดวงใจ กล่าว

 

บีโอไอปลุกลงทุน 6 แสนล้าน ชู 3 บิ๊กอุตสาหกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ-อีอีซี

 

ส่วนการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี หากพิจารณาจากตัวเลขย้อนหลังในอดีต พบว่า มีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 30-40% คาดว่า ในปีนี้ จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือการดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-Curve เข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนโครงการรวม 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมา คือ จีน มีมูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีมูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท ตามลำดับ

 

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 340,490 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 

 

1.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 104,490 ล้านบาท เป็นผลจากการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า

 

2. อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าลงทุน 62,170 ล้านบาท จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น

 

3. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่าลงทุน 48,410 ล้านบาท

 

4. อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่าลงทุน 47,660 ล้านบาท

 

5. อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน มูลค่าลงทุน 24,570 ล้านบาท 

 

ขณะที่พื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 220,500 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 74,550 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 33,210 ล้านบาท

 

นอกจากนี้กิจการในกลุ่ม BCG ซึ่งครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ในปี 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ