“กนอ.”ตั้งเป้าขาย-เช่าที่ 1,770 ไร่ บูมลงทุน4นิคมฯ ดูดลงทุนใหม่

31 ม.ค. 2565 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2565 | 18:55 น.
803

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจหลักในการจัดหาที่ดินและพัฒนาเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนบริการระบบสาธารณูปโภค และจัดให้มีและให้บริการสิทธิประโยชน์

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “นายวีริศ  อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ. ถึงทิศทางการดำเนินนโยบายในปี 2565 ที่มีความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อนภารกิจในมิติใหม่ ๆ  

-เป้าขาย-เช่า 1,700 ไร่
 

 

นายวีริศ กล่าวว่า ในปี 2565 คาดการขาย/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ที่ 1,770 ไร่ โดยเป็นยอดขายจากนิคมฯร่วมดำเนินงาน 1,700 ไร่ และกนอ.ดำเนินการเอง 70 ไร่ ซึ่งจำนวนยอดขายที่ดินในนิคมฯจะมาจากยอดขายของบริษัท WHA  (มี 10 นิคมฯ), อมตะ(มี 2 นิคมฯ) และปิ่นทอง (มี 6 นิคมฯ)

 

 

ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ลงทุนในพื้นที่นิคมฯ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องยนต์ เครื่อง จักรและอะไหล่ เป็นต้น

 

 

ทั้งนี้ กนอ. คาดหวังการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในด้าน Innovation และ Digital Economy ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของประเทศในอนาคต (New Growth Engine)  เช่น

 

 

1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) เป็นการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบและจัดทำต้นแบบ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง

2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ได้แก่ การผลิตระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม การออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

 

 

3.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) เป็นอุตสาหกรรมที่โลกมีความต้องการสูง ซึ่งอาจจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต เช่น หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ ด้านการแพทย์ หรือหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบออโตเมชั่นในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น

 

 

4.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) เพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศที่มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีสนามบินอู่ตะเภาและสนามบินอื่นที่ใช้ประโยชน์ในการฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมโลจิสติกส์ด้านการบินที่ทันสมัยมากขึ้น
 

5.อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการสูงสินค้าในอุตสาหกรรมดิจิทัลสูงมาก และอุตสาหกรรมนี้กำลังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำรงชีพของมนุษย์เช่น ธุรกิจ E-commerce, Digital Content,Data Center และCloud Computing

 

 

6.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ประเทศ ไทยมีหมอและพยาบาลที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก มีโรงพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ในอนาคตจะมีการลงทุนเพิ่มสูงมากในการผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์รวมถึงระบบการรักษาโรคทางไกลผ่านอินเตอร์ เน็ต/สมาร์ทโฟน
 

 

 

“สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป  และสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งในปี 2565 คาดเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี มีโอกาสที่นักลงทุนจะเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่มากขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเห็นการเติบโต คือ โลจิสติกส์ และกลุ่มผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์แพทย์ที่มีการขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการที่โควิด-19 ระบาด นอกจากนี้แนวโน้มของการลดโลกร้อนที่กำลังเป็นกระแสทั่วโลก จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น” 

 

 

 

มาตรการส่งเสริมขาย-เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม

 

 

 

-บูม 4 นิคมฯดูดการลงทุน
    

 

 

นายวีริศ กล่าวอีกว่า กนอ. ยังได้ดำเนินการออกมาตรการส่งเสริมการขายและการเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม  ครอบคลุมทั้งนักลงทุนรายเก่าและรายใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ประกอบด้วย

 

 

1.นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ในส่วนพื้นที่รับเบอร์ซิตี้ จ.สงขลา โดยผู้เช่ารายใหม่จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินในปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรกนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 

 

 

ส่วนผู้เช่ารายเดิมได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 2 ปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน

 

 

ขณะที่ผู้ที่จะซื้อจะขายรายใหม่ได้ส่วนลด 15% ของอัตราราคาขายที่ดิน และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 3 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ส่วนผู้ที่จะซื้อจะขายรายเดิมได้ส่วนลด 20% ของอัตราราคาขายที่ดิน และได้รับยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 3 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน

 

 

2.นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (ระยะที่ 1) จ.สงขลา โดยผู้เช่ารายใหม่จะได้รับการยกเว้นค่าเช่า 3 ปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน

 

 

ส่วนผู้เช่ารายเดิมได้รับการยกเว้นค่าเช่า 3 ปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา ได้ส่วนลดค่าเช่าที่ดิน 25% ในปีที่ 4 ของค่าเช่าที่ดินในปีนั้น และได้รับการยกเว้นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นระยะเวลา   3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน

 

 

3.นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จ.สระแก้ว โดยผู้เช่ารายใหม่ได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินในปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรกนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส่วนผู้เช่ารายเดิมได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินใน 3 ปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 2 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการเช่าโรงงานมาตรฐานในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดยทั้งผู้เช่ารายใหม่และรายเดิมจะได้รับการยกเว้นค่าเช่าโรงงานมาตรฐานใน 2 ปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษา  สิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรกนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน

 

 

4.นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จ.พิจิตร โดยผู้เช่ารายใหม่ได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินใน 2 ปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 2 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน

 

 

ส่วนผู้เช่ารายเดิมได้รับยกเว้นค่าเช่าที่ดินใน 3 ปีแรกนับจากวันที่ทำสัญญา และได้รับการยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกใน 2 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน

 

 

“มาตรการดังกล่าวทั้งหมดจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ก.ย.2565”