“คมนาคม” จ่อชงครม.ไฟเขียว ทอท.รับสิทธิบริหาร 3 สนามบินภูมิภาค

29 ม.ค. 2565 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2565 | 22:55 น.

“คมนาคม” เตรียมชงครม.เคาะทอท.รับสิทธิบริหาร 3 สนามบินภูมิภาค สัญญา 30 ปี ภายในเดือนม.ค.นี้ เร่งธนารักษ์พิจารณาค่าเช่าทำสัญญาร่วม หวังโกยรายได้ช่วย ทย.บริหารสนามบิน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการมอบสิทธิบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมธนารักษ์ ในประเด็นอัตราค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งกระทรวงฯ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อนำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ม.ค.นี้ พิจารณาอนุมัติโอนสิทธิ เบื้องต้นแนวทางการดำเนินการเพื่อโอนย้ายท่าอากาศยาน 3 แห่ง ทางกรมธนารักษ์จะคิดค่าผลประโยชน์ตอบแทน ค่าที่ดินในอัตราที่ ทอท. เคยจ่ายให้ในอัตราเดียวกับ 6 ท่าอากาศยานที่ ทอท.จ่ายอยู่ในปัจจุบัน โดยกรมธนารักษ์จะเข้ามาทำสัญญาโดยตรงกับ ทอท.ในการเข้ามาบริหารทั้ง 3 ท่าอากาศยาน จากเดิมเป็นสัญญาระหว่าง ทย.กับกรมธนารักษ์ ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์กำลังพิจารณารายละเอียดค่าเช่าที่เหมาะสม เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน

 

 

 

 

“สัญญา ทอท.เข้ามาบริหาร 3 ท่าอากาศยาน จะเป็นสัญญาระยะยาว คาดว่าเป็นสัญญา 30 ปี เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ ทย.ทำไว้เป็นสัญญาต่อทีละ 3 ปี โดยกระทรวงฯ ยืนยันว่าการมอบสิทธิให้ ทอท.เข้ามาบริหาร 3 ท่าอากาศยาน เป็นแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการท่าอากาศยาน ที่มีอยู่ของ ทย.ซึ่งเป็นท่าอากาศยานของภาครัฐ ให้มีความสามารถในการจัดหารายได้ให้มากขึ้น โดยที่ ทย.ยังได้รับเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการมอบความรับผิดชอบดังกล่าว อีกทั้ง ทย.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารงานที่คล่องตัว ของ ทอท. ซึ่งรายได้ชดเชยส่วนนี้ ทย.สามารถนำไปบริหารจัดการท่าอากาศยานที่เหลืออยู่ เพื่อลดการใช้เงินงบประมาณของภาครัฐในการดำเนินงาน และการมอบสิทธิบริหารท่าอากาศยานให้ ทอท.นั้น กระทรวงฯ ยืนยันว่าไม่ได้มีการโอนทรัพย์สินของรัฐไปให้กับทาง ทอท. แต่อย่างใด แต่เป็นการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการผ่านสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ส่วนรายได้ของ ทย.ที่หายไป ทาง ทอท. ก็มีการชดเชยให้”

ขณะเดียวกันกระทรวงได้มอบนโยบายให้ ทอท.และ ทย.ศึกษาความเหมาะสมของท่าอากาศยานอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะท่าอากาศยานที่อยู่ในพื้นที่ตามแนว MR-MAP และรถไฟทางคู่ ว่าควรนำท่าอากาศยานเหล่านี้มาบริหารเป็นท่าอากาศยานนานาชาติเมื่อไหร่ เพื่อยกระดับการรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ สนับสนุนการพัฒนาเมืองและการเดินทางเชื่อมต่อด้วย MR-MAP 

 

 

 


สำหรับโครงการ MR-MAP เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง โดยเบื้องต้นศึกษาแนวเส้นทางที่เหมาะสมรวม 10 เส้นทาง และมีเส้นทางศักยภาพที่คาดว่าจะนำมาพัฒนาได้ก่อนจำนวน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง 2.เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี 3.เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง และ 4.เส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล