ทอท.รื้อ“ซิตี้การ์เด้น”ลุยสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออกสุวรรณภูมิ

18 ม.ค. 2565 | 17:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2565 | 00:18 น.
852

ทอท.เร่งปรับแบบก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก"สนามบินสุวรรณภูมิ" วงเงิน 7.8 พันล้านบาท พร้อมรื้อ “ซิตี้การ์เด้น” คาดเปิดประมูลใน ส.ค. 65 แล้วเสร็จ มิ.ย. 68 รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี ทั้งจ้าง ICAO ทบทวนขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ

หลังจากคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 17  มกราคม 2569 เห็นชอบให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion)ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 7.8 พันล้านบาท



ทอท.รื้อ“ซิตี้การ์เด้น”ลุยสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออกสุวรรณภูมิ

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. กล่าวว่า ตามแผนงานหลังจากนี้ ทอท.จะดำเนินการปรับแบบก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ซึ่งมีความพร้อมและคณะรัฐมนตรี( ครม.) ได้อนุมัติโครงการไว้แล้วให้เป็นปัจจุบัน และทำเอกสารประกวดราคา ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน

 

ในขณะเดียวกันก็จะดำเนินการรื้อย้าย “ซิตี้การ์เด้น” ซึ่งทางบริษัท คิง พาวเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้ส่งมอบพื้นที่ ซิตี้การ์เด้น บริเวณชั้น 2 Food Stop ที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายทิศตะวันออกให้ ทอท.เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และจะย้ายศาลพระเจ้าตากสิน คาดว่าจะสรุปแบบและนำเสนอบอร์ด ทอท.อนุมัติก่อสร้างประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2565 และรายงาน ครม.เพื่อทราบ ก่อนเปิดประมูลในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2565  คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างช่วงปลายปี 2565 และเริ่มก่อสร้าง กำหนดแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2568

 

ทอท.รื้อ“ซิตี้การ์เด้น”ลุยสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออกสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก มีกรอบวงเงินลงทุน 7,830 ล้านบาท (รวม Vat และค่าสำรองราคา) ซึ่งออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันวัสดุก่อสร้างมีการปรับราคาขึ้น แต่คาดว่าการปรับแบบให้เป็นปัจจุบันจะทำให้ค่าก่อสร้างไม่เกินกรอบวงเงินที่มี นอกจากนี้ การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ซึ่งมีกรอบลงทุนรวม 69,000 ล้านบาท ยังมีวงเงินที่ประหยัดได้จากการประมูลที่ผ่านมา ดังนั้นจะไม่มีผลกระทบต่องบประมาณโครงการโดยรวมแต่อย่างใด

 

ทอท.รื้อ“ซิตี้การ์เด้น”ลุยสร้างส่วนต่อขยายทิศตะวันออกสุวรรณภูมิ

 

สำหรับส่วนต่อขยายด้านตะวันออกนั้นมีพื้นที่ 66,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี เชื่อมต่อกับอาคารหลัก ซึ่งจะมีการเพิ่มพื้นที่เช็กอิน ตรวจค้น และตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มพื้นที่เช็กอินอัตโนมัติ โดยนำระบบเช็กอินอัตโนมัติ (Auto Check-in System) การเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (self check in) มาให้บริการเพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา เพื่อลดความแออัดบริเวณโถงด้านหน้าอาคารในส่วนของพื้นที่เช็กอินได้อีกด้วย

 

นอกจากการที่ประชุมจะเห็นชอบให้ทอท.ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion)แล้ว ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานจ้าง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ  ICAO ศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างการประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาร่างข้อตกลง (Agreement) กับ ICAO โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม 2565 และแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ทอท. ได้หารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อให้การดำเนินงานของ ทอท.เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว

 

สำหรับผลการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ  IATA นั้นแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 โดยมีการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะฟื้นกลับมาในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้โดยสารปีละประมาณ 65 ล้านคน ในช่วงปี 2567-2568

 

ทั้งนี้ IATA ได้ประเมินทางเลือกในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรักษาระดับการให้บริการ (Level of Service : LoS) ของสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตทั้งหมดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (Optimum) โดยเสนอให้พัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศ (Mixed Concept)จึงให้ ทอท.ประสานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการเตรียมพร้อมรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ IATA คาดการณ์ไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางอันดับ 9 ของโลก โดยจะมีผู้โดยสารเข้ามาในไทยถึง 200 ล้านคน รวมถึงให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการขนส่งทางอากาศในกรณีที่มีการพัฒนารถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงด้วย