ทล.เปิดแผนสร้างต่อขยายดอนเมืองโทรล์เวย์ รังสิต-บางปะอิน 2.7 หมื่นล้าน

27 ม.ค. 2565 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2565 | 17:12 น.
535

“ทล.” จ่อชงคมนาคม-สคร.ไฟเขียวสร้างต่อขยายดอนเมืองโทรล์เวย์ รังสิต-บางปะอิน วงเงิน 2.7 หมื่นล้าน คาดได้ข้อสรุปไตรมาส 1 ปี 65 เร่งประมูลปีนี้ ดึงเอกชนร่วมทุน PPP เริ่มก่อสร้างปี 66 คาดเปิดให้บริการปี 70

ล่าสุดกรมทางหลวง เตรียมเร่งรัดการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน หรือ (M5) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร-ด่านแม่สาย/เชียงของ ในระยะเร่งด่วน ที่จะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่พื้นที่ด้านเหนือและบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต

 

 

 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางประอิน (M5) หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทรล์เวย์ ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 27,739 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธา 26,451 ล้านบาท ค่างานระบบ (O&M) 1,215 ล้านบาท งบประมาณเวนคืนที่ดิน 73 ล้านบาท เบื้องต้นกรมฯได้ดำเนินการสรุปผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯแล้วเสร็จ และเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติ คาดได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาต่อไป

 

 

หลังจากเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว กรมฯจะนำผลการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ภายในต้นปี 2565 ทั้งนี้จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2565 รูปแบบการร่วมลงทุน PPP Gross Cost โดยกรมฯเป็นผู้ลงทุนดำเนินการก่อสร้างงานโยธา และจ้างเอกชนบริหารจัดการงานระบบ อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2566-2569 ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปี เปิดให้บริการปี 2570

“งบประมาณการก่อสร้างของโครงการฯ ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาการใช้งบประมาณและรูปแบบการลงทุนจากกองทุนมอเตอร์เวย์ โดยจะทยอยชำระคืนเข้ากองทุนเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ หากงบประมาณโครงการฯไม่เพียงพอ จะต้องศึกษาอีกครั้งว่าจะใช้งบประมาณลงทุนในรูปแบบใด ขณะที่การเปิดประมูลโครงการฯ จะให้สิทธิกับเอกชนผู้รับสัญญาสัมปทานรายเดิมหรือไม่นั้น เบื้องต้นการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ จะเป็นการเปิดประมูลใหม่ โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกตามาตรา 36 เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ เพื่อดำเนินการจัดเอกสารการประกวดราคา (RFP)และคัดเลือกเอกชนผู้ชนะการประมูล”

 

 

 

ขณะที่การเวนคืนที่ดิน จะใช้พื้นที่การเวนคืนที่ดินบริเวณทางขึ้น-ลงของด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย โดยเป็นพื้นที่อ่อนไหวผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 74 แห่ง และมีพื้นที่อ่อนไหวที่อยู่ใกล้มากที่สุด คือ โรงเรียนตรีภัทร (กม.48+798) มีระยะห่างจากจุดกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการฯ ประมาณ 57 เมตร (ม.)

 

 

 

ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เบื้องต้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้อนุมัติเห็นชอบแล้ว เนื่องจากโครงการฯนี้มีความพร้อมที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางหลวงพิเศษส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน ของกรมทางหลวง (ทล.)

สำหรับรายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายดอนเมืองโทรล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีจุดเริ่มต้นโครงการเป็นการก่อสร้างทางยกระดับต่อเนื่องจาก Dead End Structure เดิมของทางยกระดับอุตราภิมุข บริเวณ กม.33+924 ของ ถนนพหลโยธิน และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.51+924 ของ ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร (กม.) และมีทางยกระดับ (Ramp) เชื่อมไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และทางหลวงหมายเลข 32 ระยะทาง 4 กม. รวมระยะทางโครงการฯ ส่วนต่อขยาย 22 กิโลเมตร (กม.) กำหนดให้มีด่านเก็บค่าผ่านทาง ทางขึ้น - ลง รวม 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.ด่านรังสิต1 2.ด่านรังสิต 2 3.ด่านคลองหลวง 4.ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.ด่านนิคมอุตสาหกรรมนวนคร 6.ด่านมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 7.ด่านประตูน้ำพระอินทร์ และ 8.ด่านแยกต่างระดับบางปะอิน

ทล.เปิดแผนสร้างต่อขยายดอนเมืองโทรล์เวย์ รังสิต-บางปะอิน 2.7 หมื่นล้าน

 

 

ทั้งนี้โครงการฯ จะใช้ระบบการจัดเก็บค่าผ่านรูปแบบแบบไร้ไม้กั้น Multi-lane free flow (M-Flow) เบื้องต้นกรมทางหลวงได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบเปิด (Open System) โดยชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางที่ด่านขาเข้า และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางแบ่งตามประเภทของยานพาหนะ และกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทาง