กทม.จ่อซาวด์เสียงนักลงทุน สร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา 3 หมื่นล้าน

20 ม.ค. 2565 | 19:11 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2565 | 02:20 น.
2.2 k

กทม.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน สร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา 3 หมื่นล้าน เริ่มปลายเดือนม.ค.-ก.พ.นี้ จ่อชงบอร์ดPPP-ครม.ไฟเขียว ภายในปี 65 คาดเปิดประมูลปลายปี 66 เล็งของงบปี 66 กว่า 40 ล้านบาท ศึกษาเฟส 2 รับขนส่งมวลชนระบบรอง

กทม.เร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ซึ่งเป็นเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เข้าสู่ใจกลางเมือง อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 

 

 

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ท่าพระ รวมระยะทาง 39.91 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากทม.ได้จัดประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการงานจ้างที่ปรึกษาศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) รถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ โดยใช้ผลการศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นกทม.ได้นำผลการศึกษาอัพเดตให้เป็นปัจจุบันทั้งด้านกายภาพ,ด้านผลตอบทางเศรษฐกิจและผลตอบแทนทางการเงิน ขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อจัดสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุน (market sounding seminar) โครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายเดือนมกราคมนี้หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 

 

 


หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนแล้ว ทางกทม.จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากนักลงทุนทั้งหมดเสนอต่อผู้ว่ากทม. กระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2565 
 

รายงานจากกทม. กล่าวต่อว่า ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว แต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากจากคณะกรรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) หากผ่านความเห็นชอบแล้ว กทม.จะดำเนินการจัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (RFP) คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างกว่า 3 ปี ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี เปิดให้บริการปี 2570

 

 

 

“เราพยายามเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการฯโดยเร็ว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาเกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนเวนคืนที่ดิน เราจะหลีกเลี่ยงดำเนินการ เนื่องจากการเวนคืนที่ดินของกทม.จะมีระยะเวลาดำเนินการ ทำให้กทม.ต้องลดผลกระทบต่อประชาชนและระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างที่ล่าช้า หากดำเนินการเวนคืนที่ดินจริงๆคงให้เกิดผลน้อยที่สุด ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบนี้ ส่งผลกระทบต่อโครงการฯ ด้วย เนื่องจากการจัดประชุมต่างๆค่อนข้างทำได้ลำบาก ทำให้กทม.ต้องใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นในการจัดประชุมออนไลน์แทน ซึ่งต่างจากการประชุมโดยทั่วไปที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้สะดวกกว่า”

 

 

 

 รายงานจากกทม. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตามแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ จะใช้รูปแบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-ลุมพินี และระยะที่ 3ช่วงลุมพินี-ท่าพระ แต่ปัจจุบันกทม.มีแผนจะก่อสร้างระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมกัน เพื่อไม่ให้การก่อสร้างบางช่วงมีปัญหาติดขัด โดยคาดว่าจะใช้รูปแบบการก่อสร้างเป็นระบบขนส่งมวลชนรอง ซึ่งกทม.จะของบประมาณปี 2566 วงเงินกว่า 40 ล้านบาท เพื่อจ้างที่ปรึกษาจัดทำโครงการศึกษาและวิเคราะห์รถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 2 ซึ่งจะต้องดูผลการศึกษาอีกครั้งว่าจะใช้รูปแบบการก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล,รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม),รถโดยสารประจำทางอัจฉริยะเออาร์ที (ART)

สำหรับแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ โดยมีจุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีวัชรพล จากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม ผ่านซอยนวลจันทร์ ข้ามสะพานเกษตรนวมินทร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีลาดพร้าว 83 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มที่สถานีวัดพระราม 9 จากนั้นข้ามเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วง Missing Link บางซื่อ-หัวหมาก เพื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) เพื่อสิ้นสุดเส้นทางช่วงแรกที่สถานีทองหล่อ อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท

 

กทม.จ่อซาวด์เสียงนักลงทุน สร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา 3 หมื่นล้าน

 

 

ทั้งนี้แนวเส้นทางในระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-ลุมพินี มีจุดเริ่มต้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท สถานีพระโขนง จากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนพระรามที่ 4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีคลองเตย และสถานีลุมพินี ขณะที่แนวเส้นทางในระยะที่ 3 ช่วงลุมพินี-ท่าพระ มีจุดเริ่มต้นจากสถานีลุมพินีแล้วเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนสาทรไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีช่องนนทรี  จากนั้นเลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวของรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร-ราชพฤกษ์ ที่จะยกเลิกโครงการ เมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาไปจนถึงปลายทางสถานีราชพฤกษ์ อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลมอีกจุดหนึ่งที่สถานีตลาดพลู แล้วมุ่งหน้าขึ้นทางเหนือตามแนวถนนรัชดาภิเษกไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)