บิ๊กทุนชิง LRT ‘บางนา-สุวรรณภูมิ’ 2.7 หมื่นล้าน

13 ม.ค. 2565 | 21:07 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2565 | 04:19 น.
538

บิ๊กทุนสนรถไฟฟ้า LRT สายบางนา-สุวรรณภูมิ วงเงิน 2.7 หมื่นล้าน เชื่อม สายสีเหลือง-สีเขียวของกทม. หลังเปิดฟังความเห็นจ่อชงมท.-บอร์ดPPP เคาะมี.ค.-เม.ย. 65 ลุ้นคชก.ไฟเขียวอีไอเอ

หลังจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) จัดสัมมนาทดสอบความสนใจภาคเอกชนลงทุน (market sounding seminar) โครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ก่อสร้าง รถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (light rail transit) หรือ LRT สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมูลค่า 27,892 ล้านบาท เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

 

 

รายงานข่าวกทม. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ปรึกษารวบรวมเอกสารข้อมูลและความเห็นจากนักลงทุนทุกภาคส่วน เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณาเห็นชอบ ภายใน 3 เดือน (มีนาคมหรือเมษายน 2565) และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2565

“จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชนในครั้งนี้พบว่ามีนักลงทุนหลายท่านที่ให้ความสนใจ เนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการฯ ผ่านพื้นที่บริเวณถนนสายบางนา-ตราด เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ใจกลางเมือง รวมทั้งบริเวณ 2 ข้างทางของถนนสายนี้มีความเจริญอย่างต่อเนื่อง”

 

 

 

โครงการฯ จะเปิดประมูลลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบงานระบบซ่อมบำรุงและการบริหารจัดการเดินรถ หากผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว หลังจากนั้นกทม.จะจัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (RFP) เพื่อดำเนินการหาผู้รับจ้าง คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในกลางปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการ ปี 2572

 

 

 

ขณะนี้รออนุมัติการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ จากคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) ส่วนการเวนคืนที่ดินหากหลีกเลี่ยงการเวนคืนไม่ได้กทม.จะให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการจัดหาที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น-ลง ของสถานีต่อไป

 

 

 

โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิ มีจำนวน 14 สถานีเชื่อมต่อการเดินทางกรุงเทพฯ กับจ.สมุทรปราการ โดยเป็น 2 เฟสเริ่มจากเฟส 1 ช่วงแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร, เฟส 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร โดยรูปแบบของสถานีแบ่งการออกแบบเป็น 3 ประเภท ดังนี้ ประเภท A สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว มีจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 7 สถานีศรีเอี่ยม สถานีบางนา-ตราด 6 สถานีบาง แก้ว สถานีบางสลุด สถานีกิ่งแก้วสถานีมหาวิทยาลัยเกริก สถานีสุวรรณภูมิใต้

ประเภท B สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ โครงการจำเป็นต้องออกแบบสถานีให้รองรับด้วยโครงสร้างเสาคู่ มีจำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีเปรมฤทัย สถานีกาญจนาภิเษก สถานีธนาซิตี้

 

 

 ประเภท C สถานีระดับดินจะออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน สามารถเดินเชื่อมกับสถานีบางนาของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ด้วยสะพานลอยยกระดับ (Skywalk) มีจำนวน 1 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา

 

บิ๊กทุนชิง LRT ‘บางนา-สุวรรณภูมิ’ 2.7 หมื่นล้าน

 

ทั้งนี้รูปแบบของการพัฒนาโครงการ เป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติความ เร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 1 ชั่วโมง, 1 ขบวนสูงสุด มี 4 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000-30,000 คน/ชั่วโมง คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 2572 จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการประมาณ 80,000- 100,000คน ต่อเที่ยวต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 113,979 คนต่อเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณี บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดให้บริการท่าอากาศ ยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 138,984 คน-เที่ยวต่อวัน

 

 

 

 อย่างไรก็ตามแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณสี่แยกบางนา จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามทางคู่ขนานถนนบางนา-ตราด ผ่านทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม เข้าสู่เขต จ.สมุทรปราการ ผ่านทางแยกต่างระดับกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก ทางแยกต่างระดับกิ่งแก้ว และบริเวณด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ ที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามถนนสุวรรณภูมิ 3 มาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้