"ข้าว -ยาง -มันสำปะหลัง"ส่องปัจจัยหนุนสินค้าเกษตรโต

13 ม.ค. 2565 | 01:56 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2565 | 04:12 น.
1.2 k

อานิสงค์มาตรการเยียวยาเกษตรกร ประกันรายได้ข้าว ยาง มันสำปะหลัง หนุนให้สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในปีนี้ยังพุ่ง วิจัยกรุงศรี เผยแนวโน้มปี 65 -67 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

วิจัยกรุงศรี  โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เผยแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-2567 โดยในตอนหนึ่งได้วิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตร ที่มีสินค้าหลักอย่าง ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ที่ประเมินว่าอุตสาหกรรมเกษตรเหล่านี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น สามารถตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่นี่ 

 

แนวโน้มข้าวปี 2565-2567

คาดว่าผลผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ต่อปี อยู่ที่ 30.3-31.3 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือ 19.7-20.3 ล้านตันข้าวสาร

 

ปัจจัยสนับสนุน

ผลจากปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวย (ปี 2565-2566 คาดว่ายังได้อานิสงส์จากภาวะ La Niña) ต่อการเพาะปลูกและการกักเก็บน้ำไว้ใช้ นอกจากนี้ ชาวนามีแรงจูงใจจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวจากภาครัฐ อาทิ การประกันรายได้ การประกันภัยพืชผล การวางแผนการผลิตข้าว สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก แผนรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมข้าว และแผนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับภาคเกษตร

 

ความต้องการบริโภคในประเทศคาดว่าจะกลับสู่ระดับ 10.7-11.1 ล้านตันข้าวสารต่อปี แรงหนุนจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยว หนุนอุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหาร โรงแรม อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องปรับตัวดีขึ้น


ตลาดส่งออก
การส่งออกข้าวมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 7-8 ล้านตันต่อปี ตามความต้องการในต่างประเทศโดยเฉพาะจากแอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน เบนิน และญี่ปุ่น


ราคาส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำใกล้เคียงปี 2564 สาเหตุหลักจากผลผลิตข้าวในประเทศที่เพิ่มขึ้น และสต็อกข้าวโลกที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูง

 

ประกันรายได้ข้าว

แนวโน้มยางพาราปี 2565-2567
ผลผลิตยางพารามีแนวโน้มขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี 

ปัจจัยสนับสนุน
การขยายพื้นที่ปลูกในช่วงหลายปีก่อนหน้า และ  แรงจูงใจจากราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศ

 

อุปสงค์คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยตลาดในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 3.0-4.0% ต่อปี จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนความต้องการยางในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 

 

ตลาดส่งออก 

ปริมาณส่งออกคาดว่าขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วน ถุงมือยางและอุปกรณ์ยางทางการแพทย์ และการใช้ยางพาราเพื่อสุขอนามัยของสังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มการส่งออกจำแนกรายผลิตภัณฑ์ สรุปได้ดังนี้

 

  • ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง: คาดปริมาณส่งออกยางแผ่นฯ จะขยายตัว 1.0-2.0% และยางแท่งเติบโต 2.0-3.0% แรงหนุนจาก (1) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่ทยอยฟื้นตัว และ (2) การสั่งซื้อยางพาราเพื่อเป็นสต็อก
  • น้ำยางข้น: คาดปริมาณส่งออกจะขยายตัว 1.0-2.0% อัตราการขยายตัวไม่เร่งมากนักจากฐานที่สูงในปี 2564 ประกอบกับผลผลิตยางพาราจากประเทศคู่แข่ง (อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) เริ่มฟื้นตัว
  • ยางคอมพาวด์และยางผสม: คาดว่าจะขยายตัว 1.5-3.0% ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง การขนส่ง ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์

แนวโน้มมันสำปะหลังปี 2565-2567

ผลผลิตหัวมันสดมีแนวโน้มขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูก และปริมาณฝนที่คาดว่าจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ผนวกกับเกษตรกรมีแรงจูงใจด้านราคา จากตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและมาตรการสนับสนุนภาครัฐ โดยตลาดในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ต่อปี 


ปัจจัยสนับสนุน


(1) อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มขยายตัวหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย


(2) ความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล 


(3) การให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยจึงต้องการมันเส้นเพื่อผลิตแอลกอฮอล์มากขึ้น ด้านปริมาณส่งออกคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-6.0% ต่อปี ดังนี้

 

  • มันเส้น: คาดว่าปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ 6.1-6.7 ล้านตัน เติบโต 6.0-7.0% ต่อปี โดยจีนซึ่งเป็นตลาดหลักมีแนวโน้มต้องการมันเส้นเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ผลิตเอทานอลใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงาน รวมถึงผลิตอาหารสัตว์
  • มันสำปะหลังอัดเม็ด: คาดว่าปริมาณส่งออกจะอยู่ในระดับ1.0-1.5 หมื่นตัน จากการนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์
  • แป้งมันสำปะหลังดิบ: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 3.5-3.7 ล้านตัน ขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ และเครื่องดื่มในจีน
  • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านตัน เติบโต 1.5-2.5% ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางและยาของประเทศญี่ปุ่นและจีนเป็นสำคัญ

ประกันรายได้มันสำปะหลัง