เริ่ม มี.ค.65 “คมนาคม” ใช้ตั๋วร่วมขึ้นรถไฟฟ้า-ทางด่วน-รถเมล์ รวดเดียวจบ

23 ธ.ค. 2564 | 20:32 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 03:38 น.

“คมนาคม” เดินหน้าใช้ระบบตั๋วร่วม EMV เชื่อมเดินทางรถไฟฟ้า 3 สาย รวมทั้งเรือ-ทางด่วน-รถเมล์ สั่งรฟม.บริหารค่าโดยสารรถไฟฟ้า-รายได้ เตรียมประเมินต้นทุนระบบให้บริการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 3/2564 เบื้องต้นที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินตามแผนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทยได้รายงานความคืบหน้าการนำบัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) มาใช้ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟชานเมือง สายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งสามารถรองรับการใช้งาน
ในรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด และระบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย 

 

 

 


ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการจัดทำและทบทวนร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....ของคณะกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... 
มีมติให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 288/2559 สั่ง ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2559 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... และคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 362/2559 สั่ง ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2559 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพิ่มเติม และให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ภายใต้ คนต. ขึ้นใหม่ โดยมีหน้าที่และอำนาจคงเดิม ทั้งนี้ ให้เพิ่มเติมผู้แทนจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และกรมบัญชีกลางในองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ ด้วย
 

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการและมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมของคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ โดยให้ รฟม. ดำเนินการจัดทำระบบตั๋วร่วมในรูปแบบการผูกกับบัญชีที่ระบุตัวตนผู้โดยสาร หรือ Account Based Ticketing (ABT) กลาง ตามแนวทางการพัฒนาของระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงในช่วงแรก และทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในช่วงการเปลี่ยนถ่ายระบบ หลังจากนั้นให้โอนถ่ายระบบไปยังหน่วยงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... และพัฒนามาตรฐานบัตร และหัวอ่าน (Reader) ในรูปแบบ ABT รวมทั้งประเมินต้นทุนในการปรับปรุงระบบของผู้ให้บริการ (Operator) ต่าง ๆ 

 

เริ่ม มี.ค.65 “คมนาคม” ใช้ตั๋วร่วมขึ้นรถไฟฟ้า-ทางด่วน-รถเมล์ รวดเดียวจบ

 


ส่วนการกำหนดอัตราค่าโดยสารและนโยบายนั้น พบว่าเส้นทางที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่กำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม (รฟม./รฟท.) ให้ดำเนินการเจรจาการปรับใช้โครงสร้างอัตราตั๋วร่วม ขณะที่เส้นทางที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานให้พิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขสัญญา หรือการประมูลให้สอดคล้องกับโครงสร้างอัตราใหม่

สำหรับเส้นทางที่อยู่ระหว่างการวางแผนและการศึกษา ให้ดำเนินการปรับปรุงและพิจารณาการวิเคราะห์และวางแผนโครงการในอนาคต โดยคำนึงถึงโครงสร้างอัตราตั๋วร่วมและพิจารณาแนวทางในการจัดสรรรายได้ค่าโดยสาร และการเก็บค่าบริหารระบบกลางในสัญญาต่าง ๆ รวมทั้งติดตามการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ให้เป็นไปตามกรอบข้อเสนอแนะคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมแบบสมบูรณ์ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่สามารถบังคับใช้มาตรฐานระบบตั๋วร่วมกลาง โครงสร้างอัตราตั๋วร่วมทุกรูปแบบการเดินทางและการจัดสรรรายได้ การบังคับใช้และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบที่สมบูรณ์ 

 

เริ่ม มี.ค.65 “คมนาคม” ใช้ตั๋วร่วมขึ้นรถไฟฟ้า-ทางด่วน-รถเมล์ รวดเดียวจบ
ทั้งนี้ในด้านงบประมาณและเทคโนโลยี การจัดตั้งระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อรองรับระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ ABT เพื่อจัดการระบบบัตรโดยสารและบัญชีผู้ใช้งาน โดยระบบสามารถเปิดรองรับผู้ออกบัตรหลายรายทั้งปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบ และการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในรูปแบบที่สมบูรณ์ ทั้งทางด้านเทคนิค การกำกับดูแล และการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม พร้อมทั้งได้นำเสนอ คนต. พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานด้านเทคนิค จำนวน 3คณะ และคณะทำงานด้านนโยบาย จำนวน 3 คณะ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ