เอายังไง “นมโรงเรียน” แบบ วิน วิน หาทางออกอย่างไรดี

19 ธ.ค. 2564 | 09:47 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2564 | 16:50 น.
1.4 k

ถามความคิดเห็น กูรู “นมโรงเรียน” จะแก้ปัญหา ยังไง แบบวิน วิน ด้าน กำนันอำนวย -ชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ประสานร้องเซ็ตซีโร่ ประธานชุมนุม ยื่น 4 ข้อเรียกร้อง ยกเลิกผู้ประกอบการใหม่ 5 ตัน ที่จะเข้าปี 2565 “วาริชภูมิ” แฉปัญหาขาดทุนยับสหกรณ์เสียเปรียบทุกด้าน

นมโรงเรียน”  หรือ โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปี 2565 งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท (อนุบาลจนถึง ป.6) จำนวน 260 วัน ที่จะใช้กับปีการศึกษาใหม่ ประมาณวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 2565 นั้น ยังมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลายฝ่ายไม่พอใจผลการจัดสรรโควตาปี 2564 บางคนได้สิทธิ์ บางคนเสียสิทธิ์โควตา พื้นที่จำหน่าย ทำให้ขาดทุน ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้อง จะนำไปสู่การเซ็ตซีโร่ระบบใหม่หรือไม่

 

อำนวย ทงก๊ก

 

เริ่มจาก นายอำนวย ทงก๊ก ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็น จำกัด  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  การที่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย  หรือ อ.ส.ค. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะบุกตลาดนมโรงเรียนมากขึ้น ก็เป็นสิทธิ์ของ อ.ส.ค. แล้วทุกคนในตอนนี้ก็เริ่มรุกตลาดนมโรงเรียนแทบทุกราย หากทำได้ สหกรณ์ตอนนี้เล็กลงไปทุกที แล้วไม่มีศักยภาพจะสู้ได้ เพราะเราไม่สามารถสู้กับเอกชน แล้ว อ.ส.ค.ได้เลย

 

“โรงนมของเอกชนไป ไม่มีอะไรควบคุมก็ตั้งโรงานกันไปเรื่อยๆ ตอนนี้มองไม่ออกว่าจะหาทางออกด้วยวิธีไหน  เอกชนทำได้ อ.ส.ค.ก็ทำได้  ทำให้สหกรณ์มีปัญหา เงินที่จะจ่ายชำระหนี้ ธ.ก.ส. ก็ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ เพราะวันนี้เอกชนเดินเกมบุกตลอดเวลา ซี่งตรงนี้กรมปศุสัตว์ กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ต้องตั้งคำถามที่ไปรับรองโรงานนมขนาด 5 ตัน/วัน ผมไม่เห็นด้วย เพราะน้ำนมไม่มีคุณภาพ ระบบนี้ทำให้เข้าระบบนมโรงเรียนได้ง่ายขึ้น”

 

ส่วนใน อ.ส.ค.จะไปว่าก็ไม่ได้ เพราะนักการเมืองก็ต้องการที่จะทำงานให้สมประสงค์ ก็คือ ต้องการให้ อ.ส.ค.เพิ่มยอด จะไปเกรงใจใครทำไม เพราะการค้าขายไม่มีคำว่าเกรงใจ จะไปเห็นแก่ใครก็ไม่ได้ ถ้าเอาความถูกต้องเราสู้ เอาเรื่องคุณภาพสู้ เราสู้ได้ แต่ถ้าเอาความไม่ถูกต้อง เหมือนเอาเราไปมัดมือให้เค้าชกเราก็สู้เค้าไม่ได้

 

“ผมว่าต้องรื้อระบบ หรือเซ็ตซีโร่มาตั้งสติกันใหม่ ไม่ใช่โรงนมบางโรง ไปตั้งเพิ่ม 1 โรงไม่พอ ยังตั้งโรงที่ 2 อีก สร้างที่โน้นที่นี่ได้ สหกรณ์เองทำอะไรไม่ได้ ได้แต่มองตาปริบๆ ดังนั้นอยากให้มานั่งคุยกันว่า ในระบบนมโรงเรียน ใช่หรือไม่ใช่ ที่จะเดินกันไปในระบบนี้ ยังไม่พอ จะไปขอเงินเพิ่มจากรัฐบาลอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เด็กได้ดื่มนม 365 วัน ขยายเพิ่มชั้นเรียนถึง ม.1-ม.3 ไม่ใช่ เพราะงบประมาณแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”

 

รัฐบาลก็ไม่มีเงิน เราเองก็เห็นใจรัฐบาล เพียงแต่ว่าหากเราทำกันแบบสุจริต นมโรงเรียนสามารถทำได้ให้เด็กดื่มถึง 365 วัน โดยไม่ต้องไปขอเพิ่มเงินจากรัฐบาลเลย แบบไม่รั่วไหลไปทางไหนเลย วันนี้คนที่ไม่ได้เลี้ยงโคนม กลับมากำหนดชะตาคนเลี้ยงโคนม แล้วนมโรงเรียนความจริงใช้อยู่แค่ 1,080 ตัน/วัน เด็กจำนวนลดลงทุกปี วัวนมก็เป็นโรคลัมปีสกิน ปริมาณน้ำนมต่อวันคาดว่าจะลดลง แต่ทำไมมาแจ้งปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่ ใครบอกว่านมล้น ไม่ล้น อ้าง 3,000 กว่าตัน นมปัจจุบันเหลือ 2,500 ตัน/วันได้หรือไม่ นี่คือความจริง

นัยฤทธิ์ จำเล

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ชุมนุมแห่งประเทศไทย ประกาศจุดยืนให้เอกชน องค์กรของรัฐกลับไปทบทวนการยื่นขอสิทธิ์นมโรงเรียน ทำให้สหกรณ์เกษตรกรอยู่ไม่ได้ 4 แนวทางที่จะนำเสนอ ถึง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน หากปล่อยไว้แบบนี้  อาชีพการเลี้ยงโคนมจะไปอยู่กับภาคเอกชนรายใหญ่ ต้องให้ รัฐบาลหันมาเป็นคนกลาง

 

“เนื่องจากนโยบายก่อนที่จะเกิดโครงการนมโรงเรียน มีวัตถุประสงค์  1. ให้เกษตรกรระบายนมดิบ 2. ให้นักเรียนได้ดื่มนมมีคุณภาพ  ผลจากการประชุมประชุมเบื้องต้น ก็คือ  1.ให้ยกเลิก ผู้ประกอบการรายใหม่ 5 ตัน ในปี 2565 2. ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องมีศูนย์นมดิบเป็นของตัวเองและส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงโคนมอย่างน้อย 2 ปี 3. ชื้อนมนอกพื้นที่ให้ตัด 50% ในพื้นที่ตัด10%”

 

นมโรงเรียน

 

ด้านนายสุรักษ์ นามตะ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด  ส่งหนังสือถึง กรมปศุสัตว์ เรื่องพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้าร่วมโครงนมโรงเรียน ขอเรียกร้องและเสนอให้คณะอนุกรรมการบริหารกลาง โครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน ได้พิจารณาและดำเนินการทบทวนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการทำนมโรงเรียนของสหกรณ์โคนมเจ้าของน้ำนมดิบดังนี้

 

  1. ให้มีการจัดสรรสิทธิ์โควตาทำนมโรงเรียนให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนมที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเป็นสมาชิกและได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างกันและต้องการขอสิทธิ์โควตาทำนมโรงเรียน โดยการจัดสรรสิทธิ์โควตาให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เป็นธรรมโปร่งใส ตามจำนวนน้ำนมที่ผลิตเพื่อทำนมโรงเรียนกับปริมาณน้ำนมที่สหกรณ์รับซื้อจากเกษตรกรสมาชิก และขอสิทธิ์โควต้าทำนมโรงเรียน โดยทุกภาคส่วนที่ยื่นขอสิทธิ์โควต้าทำนมโรงเรียนจะต้องใช้มาตรการหลักเกณฑ์จัดสรรตามสัดส่วนตามกล่าวอย่างเป็นธรรม

 

   2. ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประกอบการนมโรงเรียนที่ต้องได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเฉพาะกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนมโดยให้สามารถจ้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ที่มีกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้รับมาตรฐานสากล โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างโรงงานซึ่งจะเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม สามารถเข้าร่วมโครงการได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าน้ำนมดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน

 

ส่วนเงื่อนไขการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ตีสำหรับฟาร์มโคนม (GAP) ผลคุณภาพน้ำนมดิบตามเกณฑ์มาตรฐานที่นำมาใช้ผลิตเป็นนมโรงเรียน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ผ่านมา เพื่อให้นมโรงเรียนได้คุณภาพให้เด็กนักเรียนได้ดื่มอย่างปลอดภัย เพื่อขอความกรุณาผู้มีอำนาจและเกี่ยวข้องในการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้พิจารณาและเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์โคนมได้สิทธิ์โควตาเข้าไปทำนมโรงเรียนได้ง่ายและมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับสหกรณ์โคนม เกษตรกร

 

 

ขณะที่ นายตะวัน แพงศรี ประธานคณะกรรมการสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด  ถวายรายงานปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการของสหกรณ์โคนมวาชริภูมิ จำกัด เรียนถึง ราชเลขาในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ถึง ผลกระทบจากหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ประจำปี การศึกษา 2564

 

ด้วยสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด มีสมาชิก จำนวน  145 ราย รวบรวมน้ำนมดิบได้วันละ  27 ดันต่อวัน ได้รับความเดือดร้อนจากหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2564  ข้อ 12.5 การลดทอนสิทธิ์การจำหน่ายนมโรงเรียน เนื่องจากผู้ประกอบการที่ยื่นสมัครเข้าร่วม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ไม่เกิน 5 ตัน ไม่ต้องเข้าสู่การลดทอนสิทธิ

 

แต่ถ้ายื่นเกิน  5 ตัน จะต้องเข้าสู่การลดทอนสิทธิตามหลักเกณฑ์ในข้อ  1.2.5 สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด ยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน จำนวน 25.53 ตันได้รับสิทธิการจำหน่าย  11.202  ตัน (ตามหลักเกณฑ์ ข้อ 125 และมีนมเหลือจากการลดทอนสิทธิ จำนวน  14.33  ตันต่อวัน น้ำนมดิบส่วนที่เหลือสหกรณ์ฯ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะนำไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการรายอื่นไม่ได้ ตลอด 365 วัน สหกรณ์จึงต้องนำน้ำนมดิบส่วนที่เหลือจำหน่ายในราคาต่ำกว่าทุน กิโลกรัมละ  4.50 บาท ส่งผลกระทบต่อการขาดทุนปีละ กว่า 23 ล้านบาท

 

สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัดเห็นว่า หลักเกณฑ์ฯ  ข้อ  12.5  เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ทำการก่อสร้างโรงงานพาสเจอร์ไรส์ จำนวนหลายแห่งพร้อมกัน เพื่อยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นมโรงเรียน ) ไม่เกิน 5  ตัน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกับสหกรณ์ขนาดเล็ก ที่ไม่มีเงินทุนในการก่อสร้างโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ หลายแห่ง

 

หรือติดขัดด้วยเรื่องข้อบังคับในเรื่องแดนการดำเนินงาน เช่นในปีการศึกษา 1/2564  มีผู้ประกอบการรายใหญ่สร้างโรงงานจำนวน 5 แห่ง และอีก  1 รายสร้างโรงงาน 2  แห่ง ในเขตพื้นที่กลุ่ม 3 (12  จังหวัด คือ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร สารคาม กาฬสินธุ์ เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬและร้อยเอ็ด )

 

โดยใช้หลักเกณฑ์ฯการลดทอนสิทธิ สร้างความเดือดร้อนให้กับภาคสหกรณ์และภาคเอกชนเป็นอย่างมากอนึ่งหากยังถือใช้หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2564 ต่อไป สหกรณ์โคนมที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน จะเหลือสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนไม่เกิน 5  ตัน หรือไม่ได้ผลิตนมเพื่อเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เลย จะคงเหลือเฉพาะการรวบรวมน้ำนมดิบจากสมาชิกและส่งจำหน่ายให้บริษัทรายใหญ่

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา นำความกราบบังคมทูลทราบฝ้าละอองพระบาท กราบบังคมทูล ดังกล่าวข้างต้นทั้งนี้ หากทรงมีพระราชวินิจฉัยเป็นประการใด โปรดแจ้งให้สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด ทราบในโอกาสแรกด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

 

หนังสือปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด