รื้อโควตา “นมโรงเรียน” ใครได้ใครเสีย?

27 ก.ย. 2564 | 20:44 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 05:46 น.
1.3 k

“มนัญญา” เล็งรื้อโควตานมโรงเรียนใหม่ ถอดบทเรียนโรงเรียนเอกชน เด็กไม่ได้ดื่มนม ขณะที่ประธานชุมนุมฯ ยกมือสนับสนุนเต็มที่ “วสันต์” ถ้าจะทำให้เข้าสู่ระบบสากล เปิดประมูลเสรี ยกเลิกโควตา เลือกผู้ซื้อ ผู้ขาย ตามใจชอบ ไม่มีปัญหา

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

วันที่ 27 กันยายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแก้ปัญหานมโรงเรียน จ.ระยอง  เผยว่า  จากโรงเรียนเอกชน จังหวัดระยอง จำนวน  17 แห่งที่ไม่ได้รับนมโรงเรียนจากผู้ประกอบการนั้น

 

ขณะนี้ได้ตรวจสอบข้อมูลเอกสารแล้วแสดงถึงความไม่โปร่งใสในโควตาของผู้ประกอบการนมโรงเรียน จึงได้มีการเชิญกรมปศุสัตว์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประชุมด่วนในวันนี้ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ไปดูรายละเอียดหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนใหม่ อาจต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในหลายๆ ประเด็นเพื่อให้รัดกุมและดียิ่งขึ้น เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

 

โดยให้สอดคล้องกับมติครม. เรื่อง การทบทวนระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ปี 2562 ด้วย และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อไป

 

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์.

 

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนและหลัง ให้มีระบบติดตามคุณภาพนม ตรวจสอบเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ตรวจสอบความพร้อมและประวัติของผู้ประกอบการ ในส่วนของระบบรายงานเรื่องการตรวจสอบคุณภาพต้องมีหน่วยกลางที่วิเคราะห์ ต้องไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมคุณภาพ เราต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ถูกต้อง

 

 

สำหรับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียน ปี 2564 ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จำนวน 6 กลุ่ม รวม 95 ราย จำนวนนักเรียน 6,951,599 คน ปริมาณสิทธิการจำหน่าย 1,039.33 ตันต่อวัน โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ ดังนี้

 

น.สพ.ณรงค์ เลี้ยงเจริญ

 

1. คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน /ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์เป็นเลขาฯ) ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (ตามมติครม.) รวบรวมประเด็นปัญหาของหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ ประชุมเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ และเสนอต่อคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนพิจารณา

 

2.คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน (ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นเลขาฯ) เห็นชอบและประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการฯ (ตามมติครม.)

 

3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) รับสมัคร/จัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนให้กับผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการ (ตามมติครม.) ติดตามการจัดทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนให้ครบถ้วน (ตามมติครม.) ตรวจสอบ ติดตามและกากับดูแลโครงการ ในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับจังหวัดทุกจังหวัด

 

4.อ.ส.ค. ทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทุกรายกับผู้ประกอบการ (ตามมติครม.) มอบอำนาจให้ผู้ประกอบการไปทำสัญญาซื้อขายกับหน่วยจัดซื้อ/โรงเรียน (ตามมติครม.) จัดเก็บสัญญาซื้อขายนมโรงเรียน

 

5. หน่วยจัดซื้อ/โรงเรียน จัดซื้อและทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียน เก็บรักษาและแจกจ่ายนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนดื่ม

 

นัยฤทธิ์ จำเล

 

ด้านนัยฤทธิ์  จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ทุกวันนี้ อ.ส.ค. สหกรณ์  ถูกเอกชน กลืนไปหมด แล้ว ภาค สหกรณ์ ทำอะไร ก็ผิด มี เอกชนบางราย  กอบโกย เป็นล่ำเป็นสัน  อยากสร้าง โรงงานตรงไหนก็สร้าง  น้ำนมดิบ  มีจริงหรือไม่ ตรวจสอบด้วย

 

ยกตัวอย่าง  ผู้ประกอบการโรงเรียน เอกชน ต้นเหตุที่ทำให้ น้ำนมเกษตรกร ราคาต่ำกว่าปกติ  ซึ่ง  มติครม ปี62  ทำให้ ระบบ ดีขึ้นเป็นบ้างข้อ  ไม่ดีไปหมดทุกอย่าง เช่น  การแบ่งกลุ่ม  มีได้เปรียบเสียเปรียบ   ขอให้ทบทวน และ การแบกรับน้ำนมดิบ  วันนี้ สหกรณ์เสียเปรียบ ภาคเอกชน เนื่องจาก สหกรณ์มีศูนย์น้ำนมดิบ ต้องดูแลสมาชิกจำนวนมาก  แต่ก็ชอบใจรัฐมนตรีช่วยฯ ที่พูดถูกใจ  บริษัทงอกออกมาเป็นเหมือนถั่วงอก และถ้า ไม่ออกมาขับเคลื่อน อนาคตผู้ประกอบก่รเอกชน จะกลืน  อ.ส.ค.กับ สหกรณ์ อย่างแน่นอน

 

วสันต์ จีนหลง

 

ขณะที่นายวสันต์  จีนหลง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แมรี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยี่ห้อ “MMILK” นายกสมาคมนมพาสเจอร์ไรซ์ และในฐานะกรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กล่าวว่า วันนี้ทุกคนมีธงในใจทั้งหมด หากย้อนไปตอนที่ ป.ป.ช.ท้วงติง อ.ส.ค. เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน  ซึ่งในตอนนั้นหากย้อนกลับไปมีการร้องเรียนเรื่องการจัดสรรไม่เป็นธรรม ผูกขาด มีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรร คาดว่าน่าจะมีเบื้องหลังที่มีเอเย่นต์สัมปทานของ อ.ส.ค.ในการให้ข้อมูล เป็นข้อมูลในเชิงผลประโยชน์

 

“วิวัฒนาการของนมโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2535 ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ และลำดับสุดท้ายเมื่อปี 2562  เพราะ ป.ป.ช.ได้ให้ข้อเสนอแนะ ตามผลการศึกษาของ ป.ป.ช. ต่อ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ตั้งคณะทำงานมาหนึ่งคณะแล้วมองเห็นว่าประโยชน์ของเกษตรกร เด็กได้ดื่มนมมีคุณภาพ จึงได้มีการแก้มติ ครม. ปี2562 (26 มี.ค.62) จัดสรรโดยการกระจายอำนาจให้กับกลุ่มต่างๆ โดยใช้กลไกของภาครัฐ คือหน่วยงานราชการ ก็คือ กรมปศุสัตว์ ซึ่งมีบุคลากรทั่วประเทศ 1.เข้าถึงง่าย เพราะมีทุกอำเภอ เวลามีประเด็น ปัญหาอะไรขึ้นมา จะแก้ปัญหากันในพื้นที่ แล้วสามารถควบคุมกำกับได้อย่างใกล้ชิด”

 

แต่ในอดีตที่ผ่านมาเป็นการรวมศูนย์อำนาจใจการบริหารโดยใช้ อ.ส.ค. และใช้คณะทำงานซึ่งมีผู้ประกอบการซึ่งทำให้เกิดข้อเหลื่อมล้ำในการจัดสรรโควตานมโรงเรียน จึงเกิดการร้องเรียนเป็นลำดับมาโดยตลอด

 

นายวสันต์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วันนี้ปัญหานมโรงเรียน ได้แก้ปัญหาตามสถานการณ์ ณ ปัจจุบันมาแก้ในสถานการณ์นั้นๆ ยกตัวอย่างในปี 2561-2562 แก้อะไรบ้าง อาทิ 1. น้ำนมดิบคุณภาพต่ำ 2. ให้เด็กดื่มนมทั่วถึง เดิมไม่ทั่วถึง 3.เกษตรกรไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้ 4.ผู้ประกอบการเองมีการร้องเรียนว่าจัดสรรไม่เป็นธรรม มีการผูกขาด 5.มีการประกันสินค้า เด็กจะได้หลักประกัน ถ้าดื่มไปแล้ว ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย บริษัทประกันจะต้องจ่าย

 

"ผมให้เครดิตท่านกฤษฎา บุญราช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปิดรายละเอียดข้อผิดพลาดทั้งหมด แล้ว โดยอ้างอิงจาก ป.ป.ช. และเป็นการกระจายให้อำนาจศูนย์ต่างๆไปบริหารจัดการ ควบคุม กำกับ เพียงแต่ส่วนกลางออกแค่หลักเกณฑ์การบริหารจัดการ กำกับดูแล โดยภูมิภาค รวมทั้งการแก้ไขปัญหาจะได้ทันท่วงที"

 

ส่วนการที่จะเปลี่ยน อ.ส.ค. เป็นคู่สัญญา เปลี่ยนไม่ได้  เพราะเนื่องจากว่า ซื้อเป็นกรณีพิเศษ จะได้เฉพาะรัฐต่อรัฐเท่านั้น เป็นเรื่องของกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะถ้าให้เอกชนไปซื้อภาครัฐโดยการฮั้วไม่ได้ เพราะนี่คือการ "ฮั้วระดับชาติ"  แต่ใช้ อ.ส.ค. เป็นเครื่องมือกลไก แต่ถ้าจะกลับให้มาสู่สามัญ ก็จัดซื้อจัดจ้างตามหลักสากล อย่าใช้วิธีจัดซื้อในกรณีพิเศษ  ให้ "เปิดประมูล" เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกภาคส่วน ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อได้

 

แหล่งข่าววงการโคนม กล่าวว่า เรื่องนี้เปรียบเหมือนละครน้ำเน่านี้ ที่เกิดจากคนคนเดิมที่สร้างปัญหาทุกยุคทุกสมัยสั่งโรงเรียนได้ สั่ง อ.ส.ค. ได้แต่ยุคนี้สั่ง กรมปศุสัตว์ ยังไม่ได้เลยใช้วิธีสั่งให้ป่วนฝ่ายการเมืองดันไปรับลูกเต้นตามอีก

 

"สหกรณ์" คือ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาจากการให้เอเยนต์เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุน ใครเป็นเอเยนต์คนนั้นเสียผลประโยชน์ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา "คุณมนัญญา " น่าจะรู้ดี