เกมเดิมพัน “อ.ส.ค.” วางแผน ยึด ตลาดนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้านบาท

23 พ.ย. 2564 | 17:53 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2564 | 01:44 น.
954

โรงงานเอกชนหนาว “มนัญญา” เล็งนำ อ.ส.ค.วางแผนยึดตลาดนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้านบาท ชี้ชัดหากลดบทบาท อ.ส.ค. ลงทำให้เกิดน้ำนมดิบล้น เททิ้ง เช่นในอดีต ผวากระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ด้านนายกสมาคมพาสเจอร์ไรส์ฯ ย้ำ ป.ป.ช. ให้สถานะ อ.ส.ค. เป็นแค่ตัวกลางในการจัดทำสัญญาเท่านั้น

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหานม  ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยได้ดื่มนมมากขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง อีกทั้งช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมให้สามารถจำหน่ายน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

อย่างไรก็ตามจากที่มีกระแสข่าวว่าโครงการนมโรงเรียน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการบางรายเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากโครงการนี้ ในเรื่องนี้ได้พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามข้อมูลที่มีกระแสข่าวหรือไม ซึ่งหากพบว่ามีการกอบโกยผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรายใหญ่จริงและไม่ได้มีการซื้อนมจากภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตัวจริงก็พร้อมที่จะเสนอให้มีการทบทวนเงื่อนไขโครงการนมโรงเรียน เพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตัวจริง

 

ซึ่งกรณีนี้ขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทำรายละเอียด ปัญหาความเดือดร้อนเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ ตามลำดับขั้นตอน ผ่านกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอนุกรรมการจัดสรรโควตานมโรงเรียน เพื่อเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ และคณะกรรมการบริหารนมโรงเรียนเพื่อพิจารณา ซึ่งตนพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสหกรณ์โคนม

สำหรับในเงื่อนไขการจัดสรรโควตานมโรงเรียน ได้มีการกำหนดเงื่อนไขรับซื้อนมโรงเรียนจากผู้ประกอบการโรงนมขนาดเล็ก (5 ตัน) ว่าโรงนมที่ซื้อจากเกษตรกรจริงหรือไม่ หรือบางรายมาจากการสนับสนุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ และไม่ได้มีการซื้อนมจริง ซึ่งทั้งหมดอยากให้ช่วยกันตรวจสอบเพราะในเรื่องนมโรงเรียนที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลมุ่งหวังให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ ไม่อยากให้มีใครมาเอาเปรียบเด็ก

 

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์

นางสาวมนัญญา กล่าวว่า ตนพูดในฐานะคนเป็นแม่ที่เชื่อมั่นว่านมโรงเรียนต้องดีที่สุด  แต่ขณะนี้เหมือนมีใครมาเอาเปรียบเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เรื่องที่สังคมต้องช่วยกัน และนายกรัฐมนตรีเองต้องการให้โครงการอาหารเสริมนมโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเด็กนักเรียน ขณะเดียวกันเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมตัวจริงได้รับผลประโยชน์จากงบประมาณนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้านบาทด้วย

 

"ในที่ประชุม ได้ให้ความเชื่อมั่นต่อสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือและไม่ทอดทิ้ง แต่ขอให้มีการนำเสนอข้อมูลมาตามขั้นตอนและควรมีการดำเนินการให้ทันก่อนที่จะถึงปีการศึกษา 1/2565 และเห็นว่าควรต้องมีการทบทวนบทบาทของ “อ.ส.ค.” ที่ควรต้องเข้ามามีบทบาทในโครงการนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะหาก อ.ส.ค.ไม่ช่วยรับซื้อนมก็จะมีปัญหาการเทนมทิ้งเหมือนในอดีต ในช่วงโควิดที่ผ่านมาภาคเอกชนบางรายไม่รับซื้อนมจากเกษตรกร แต่ อ.ส.ค.ก็ยังทำหน้าที่รับซื้อนมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสหกรณ์และเกษตรกร

 

ด้าน นายสุรักษ์ นามตะ ประธานชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด กล่าวว่า จะไปรวบรวมความเห็นของสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมนำเสนอต่อกรมปศุสัตว์เพื่อพิจารณาความเดือดร้อนครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันอ.ส.ค. ดูแลสมาชิกโคนม 4,500 ราย ปริมาณนม 600 – 700 ตันต่อวัน หากว่าบทบาทของ อ.ส.ค.ในเรื่องนมโรงเรียนน้อยลง จะส่งผลกระทบต่อการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรเช่นกัน

 

“ยอมรับว่ากรณีโรงนมย่อยขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีการขยายตัวตั้งเพิ่มขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของรายใหญ่ ทำให้กระทบต่อสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมมาก การที่คุณมนัญญา ออกมาพูดเรื่องการรื้อระบบนมโรงเรียน จึงเป็นความหวังของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมทั้งหมด ทั้งนี้ ตนจะกลับไปทำความเห็นภายในต้นมกราคม 2565 เพื่อให้ทันกับช่วงเวลายื่นสิทธิ์นมโรงเรียน 1/2565 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. 65 เพราะไม่อยากให้เกิดภาพการนำนมโรงเรียนมาเททิ้งกลางถนนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา”

 

วสันต์ จีนหลง

 

นายวสันต์ จีนหลง  นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์  กล่าวว่า มีผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่พอใจ การที่ อ.ส.ค.มาเล่นแบบนี้ มีหลายคนตั้งคำถามมาว่า อ.ส.ค. ควรจะมีบทบาทอย่างไร ซึ่งหลักการต้องบอกก่อนว่า โดยส่วนตัวไม่ได้รังเกียจ อ.ส.ค. แต่ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานรัฐ มีการบริหารจัดการเครื่องมือมากมายไม่ควรจะมาเล่นแบบนี้ ณ วันนี้ อ.ส.ค.จะแปลงร่างเป็นสถานะไหนก็แล้วแต่ ในข้อที่ ป.ป.ช. แนะนำ ให้ อ.ส.ค. เป็นแค่หน่วยงานกลางในการจัดทำสัญญาเท่านั้น

 

ไม่ใช่ให้มาเป็นผู้เล่น เชื่อว่าการทำเอ็มโอยู เท่านี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิเท่านั้นเท่านี้ แต่ถ้าขอสิทธิเท่าเดิมไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ชี้แจงแสดงเจตนาว่าจะขอเพิ่มทั้งจากคำพูด และเอ็มโอยูสอดรับกันอยู่ วันนี้ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ หรือ อ.ส.ค. หรือโรงงานเอกชน ก็ล้วนแล้วแต่ซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรเช่นกัน

 

แต่ที่แตกต่างก็คือ เครื่องมือ เอกชนไม่มีเครื่องมือจากรัฐที่ให้การสนับสนุน แต่  อ.ส.ค. มีเครื่องมือสนับสนุนที่เหนือกว่าทั้งงบประมาณ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มานั่งเป็นบอร์ด ซึ่งเป็นระดับผู้บริหารกระทรวงที่เป็นข้าราชการทั้งนั้นที่มานั่งบริหาร