ชงรื้อ กม. ปิดช่องโหว่บิ๊กดีล TRUE-DTAC – แม็คโคร-โลตัส ควบรวมกิจการ

15 ธ.ค. 2564 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 23:02 น.
819

บิ๊กดีลเขย่าวงการโทรคมนาคม“ทรูและดีแทค” ยังคงต้องจับตา ล่าสุดมีการ ชงรื้อ กม. ปิดช่องโหว่บิ๊กดีล TRUE-DTAC – แมคโคร-โลตัส ควบรวมกิจการ

บิ๊กดีลเขย่าวงการโทรคมนาคม “ซี.พี.-เทเลนอร์” การประกาศควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือระหว่าง “ทรูและดีแทค” เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่บริษัทเทคโนโลยี เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างมาก มีแรงต้านทั้งจากนักวิชาการ –สภาองค์กรผู้บริโภค เรียกร้องให้ กสทช. หน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงตรวจสอบโดยเร็วที่สุด  

 

คำถามที่ตามมาว่าการ พลิกเกมแข่งขันทรู-ดีแทคขึ้นเบอร์ 1 หลายฝ่ายในแวดวงโทรคมนาคมไทย ต่างคาดการณ์ความเป็นไปได้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ จะมีข้อสรุปอย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการแข่งขันที่อาจส่งผลกระทบกับผู้บริโภค

แน่นอนว่าเกมในส่วนของธุรกิจยังคงเดินหน้าไปตามประกาศ แต่ในรัฐสภาขณะนี้มีความคืบหน้าเพื่อนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการ

 

 

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ ชี้แจงว่า ได้มีการยื่นญัตติด่วนต่อรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ช่วงบ่ายหลังจากวาระกระทู้ถามเพื่อขอความเห็นสภาเลื่อนเป็นญัตติด่วน หากสภาเห็นชอบจะมีการพูดคุยกัน เป้าหมายของญัตตินี้คือการตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค และการควบรวมแมคโคร-โลตัส รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เบื้องต้นมีพรรคการเมืองทั้งหมด 7 ส.ส. ทั้งพรรคประชาธิปปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ และพรรคพลังธรรมใหม่

 

“เราทราบข่าวที่จะมีการควบรวมระหว่างดีแทคกับทรู ส.ส.ในรัฐสภาก็มีการคุยกันว่าถ้า กสทช. กขค.บอกว่ามีกฎหมายชัดเจนถ้ามีการควบรวมแล้วผูกขาด กิจการลดการแข่งขัน เราก็ไม่ต้องยื่นญัตติเข้าสู่สภา แต่ปรากฎว่าข่าวจะทำให้เกิดปัญหา คำถามแรกว่าถ้าเกิดการควบรวมผลดีต่อใคร แน่นอนเอกชนแต่กับประเทศเราไม่มั่นใจ กลับมองว่าจะเกิดผลเสียกับประชาชน ก็ได้มีการยื่นญัตติด่วนเข้าสภา เป้าหมายใหญ่เพื่อศึกษาผลกระทบ หากพบว่ากฎหมายมีข้อบกพร่องก็จะมีการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขออกมา เป้าหมายรองคือต้องการเชิญคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการว่าถ้ามีกฎหมายที่ชัดเจนพอสมควร แต่การตัดสินไม่เป็นไปบนหลักผลประโยชน์ของชาติ ผู้ที่กำกับดูแลไม่ดำเนินการก็จะยื่นถอดถอน ยื่น 157”

 

เมื่อสภาเดินหน้าแล้ว ในส่วนหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง กสทช. ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ากระบวนการยังมีความไม่ชัดเจน

 

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า  กฎหมายหลักๆของ กสทช มี 2 ฉบับ คือ กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่เดิมออกกฎประกาศมา 2 ฉบับคือประกาศป้องกันการผูกขาด ถ้าจะขอควบรวมกิจการในแนวระนาบต้องขออนุญาต กับประกาศควบรวม1 ซึ่งต้องขออนุญาต แต่ปี 2561 กสทช.ได้แก้ประกาศควบรวมลักษณะเป็นการรายงานเพื่อทราบไม่จำเป็นต้องขออนุญาต โดยอ้างมาตรา 22 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการ ซึ่งไม่มีการขอความเห็น กขค. และ กลต. วันนี้ กสทช.จึงยืนยันว่าการควบรวมกิจการไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กสทช.

 

ในสัปดาห์หน้า กสทช.จะมีการสรรหากรรมการชุดใหม่ ชุดนี้ก็อาจจะยังไม่ได้ดำเนินการเข้มข้น ประกอบกับว่าตั้งแต่มีการแถลงข่าวการรวมกิจการเดือนพฤศจิกาจนถึงปัจจุบัน กสทช.ไม่เคยเสนอให้บอร์ดรับทราบมีแต่การเชิญทรูกับดีแทคมาให้ข้อมูลเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงควรหารือระหว่าง กขค. หรือแม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ด้วย

 

“พูดง่ายง่ายคือเราพิจารณาอนุญาตได้และในการที่ออกประกาศปี 61 ไม่ได้ขอความเห็น กขค.หรือ กลต.ผมกลายเป็นเสียงเดียวที่สงวนเสียงไว้ กสทช.ยืนยันว่าการควบรวมกับทรูดีแทคไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตของ กสทช.ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในอำนาจซึ่งยังมองเห็นต่างกับผมอยู่ ผมเห็นว่าแม้จะไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตแต่เป็นผู้มีอำนาจควบคุมผู้ได้รับใบอนุญาต ถ้าไม่พิจารณาก็จะเป็นปัญหา จริงๆ เรื่องนี้ กสทช.ควรมีอำนาจพิจารณาถ้าอ้างประกาศปัจจุบันไม่ทันสมัยหรือไม่มีอำนาจก็ปรับปรุงประกาศเพราะตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 21 (11) ออกประกาศได้ว่าการรวมกิจการก็ต้องขออนูญาตด้วยเพราะมีเป้าหมายเดียวคือการรวมผู้ได้รับอนุญาตในปลายทางอยู่ดี”

 

การควบรวมกิจการ TRUE-DTAC ที่ผ่านมาถูกระบุว่าเป็นอำนาจ กสทช. ที่จะพิจารณาว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือควบรวมกิจการได้หรือไม่ เพราะแม้ว่า กขค.จะมีกฎหมายเรื่องการควบรวมแต่กสทช.ก็มีกฎหมายเรื่องกำกับดูแลควบรวมด้วยเช่นกัน

 

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ระบุว่า กรณีชัดเจนว่าเป็นการควบรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมของประเทศ แน่นอนว่า กสทช.มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กขค.จะนิ่งเฉยเพราะโทรคมนาคมเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการกำกับดูแลเหล่านี้จึงจะต้องทำอย่างเข้มข้นหลักการสำคัญอันหนึ่งคือเรื่องของการป้องปรามไม่ให้เกิดปัญหาการแข่งขันที่จะตามมาในอนาคตเพราะฉะนั้นในการพิจารณาเรื่องเหตุและผลของการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผลต่อผู้บริโภค การพัฒนาธุรกิจลักษณะนี้

 

โดย กขค.ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการภายใน โดยตั้งคณะทำงานศึกษาลงลึกในรายละเอียดต่างๆ ทั้งในแง่มุมทางกฎหมายว่าจะมีช่องทางหรือโอกาสที่ กขค.จะเข้าไปกำกับดูแลได้มากน้อยแค่ไหน

 

“ข้อมูลเกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจยังไม่มีความชัดเจน เป็นเพียงแค่การยื่นเรื่องไปที่ กลต. และกฎหมายได้มีการระบุว่าหน่วยงานกำกับต้องเป็นคนที่ทำหน้าที่ที่ดูแลโดยตรง เราเองคงไม่กล้าล้ำเส้นในเรื่องนี้ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า กคข.จะนิ่งเฉย”

 

ฝั่งนักวิชาการที่ออกมาแสดงความเห็นในการควบรวมกิจการแสดงให้เห็นว่าจะเกิดไซด์เอฟเฟคมาก่อนหน้านี้อย่าง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  ให้มุมมองการควบรวมกิจการครั้งนี้ว่า จะทำให้เกิดตลาดที่ย้อนหลังไป 17 ปีในสมัยที่ประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย คือ เอไอเอสกับดีแทค ซึ่งจะทำให้การผูกขาดเชิงโครงสร้างของตลาดมือถือของไทยสูงมาก อยู่ในระดับที่อันตราย เกิดความเสี่ยงใหญ่มากที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ บริการโทรคมนาคม อินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ ตลอดจนคนทำอุตสาหกรรมที่ต้องไปสู่ 4.0 นักเรียนที่จะต้องเรียนออนไลน์ โรงพยาบาล คนทำสื่อที่จะต้องใช้ออนไลน์มากขึ้นมีความเสี่ยงที่จะถูกเอาเปรียบด้านราคา

 

“ทางออกในแง่ทางวิชาการที่ในแง่ของผู้บริโภคจะทำอย่างไรถ้าเกิดตัวเลือกน้อย ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจ ก็ไม่มีทางออกเพราะฉะนั้นในทางวิชาการถ้าควบรวมแล้วเกิดความเสี่ยงสูงขนาดนี้ หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศจะไม่ยอมให้ควบรวม”

 

ไซด์เอฟเฟคควบรวม “ทรู-ดีแทค”

นพ.ระวี ระบุว่า ถ้าเกิดการควบรวมเหลือ 2 ราย สิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่จะเห็นแล้วก็ประเมินแล้วว่าจะเกิดการแข่งขันการพัฒนาระบบบริการเปิดโปรโมชั่นใหม่ แข่งขันกันขยายพื้นที่บริการของแต่ละจังหวัด และแข่งขันด้านราคารถแรกแจกถามแถม

 

“กฎหมายต่างประเทศธุรกิจคุณจะกี่เปอร์เซ็นต์ไม่รู้แต่ถ้าควบรวมเกิน30% คุณจะต้องขายกิจการออกมาเป็นบริษัทลูกที่ไม่เกี่ยวกัน ของไทยตอนนี้ควบรวมครั้งนี้มันเกิน50% ตรงนั้นอันตรายมาก ห่วงในเรื่องของการบริการ การขยายพื้นที่บริการและราคาเราต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันการผูกขาดทั้งระบบนั่นอย่างการการควบโลตัสและแม็คโครก็อนุมัติไปแล้วอีกไม่นานจะเห็นผลเสีย”

 

ดร.สมเกียรติ ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือเรื่องคุณภาพบริการโทรคมนาคม รวมทั้งต้นทุนบริการโทรคมนาคมที่ในต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงเพราะมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา แต่ในเมืองไทยการลดราคาจะเกิดขึ้นช้าแปลว่าคนไทยจะมีต้นทุนสูงกว่า รวมทั้งปัญหาการขายพ่วงอาจจะกลับมา เช่นซื้อมือถือก็ต้องซื้อแพ็คเกจต่างๆ นอกจากนี้ยังตัวอย่างที่เริ่มเห็นกันแล้วก็คือโรงพยาบาลมีการควบรวมกิจการมากขึ้นจากเครือใหญ่ใหญ่ไปซื้อโรงพยาบาลเล็กๆที่เป็นอิสระ ทำให้ตอนนี้ค่าบริการรสูงขึ้นมี นี่คือตัวอย่างผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ หากมองไปถึงภาพรวมในทุกกิจการของประเทศไทย

 

นพ.ประวิทย์ ระบุว่า คลื่นถูกครอบครองโดยรายใหญ่ 2 ราย โอกาสของรายเล็กเกิดขึ้นค่อนข้างยาก เป็นปัญหาว่าในอนาคตการแข่งขันในตลาดน่าจะลดลงอย่างรุนแรง ต่อไปโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมนำโดย 5G คือการสร้างระบบนิเวศเพื่ออุตสาหกรรมอื่น ถ้าเหลือแค่ 2 รายโอกาสที่จะเกิดการหมัดมือชก ตัวเลือกน้อยลง อุตสาหกรรมอื่นจะเดือดร้อนไปด้วย ไทยที่จะพัฒนาดิจิทัลน่าจะช้ากว่าประเทศอื่น

 

“ในมิติเรื่องการลงทุนที่พูดว่าซ้ำซ้อนมันเป็นเหตุผลทางธุรกิจแต่ว่า กสทช.ในมีทางออก ก็พยามกระตุ้นมาตลอดให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันไม่จำเป็นที่จะต้องไป ตั้งเสา 3 บริษัทในตำบลเดียวกัน สามารถขอใช้เสาร่วมกับคู่แข่งได้ ใช้สัญญาณ เครือข่ายร่วมกันได้เป็นการลดต้นทุนการประมูลคลื่น ลดต้นทุนการตั้งเสา ไม่จำเป็นต้องไปรวมเป็นกิจการกัน ดังนั้นไม่ได้แปลว่าไม่มีทางออกพูดง่ายง่ายคือเหตุผลที่ทั้ง2 บริษัทพูดว่าจะเกิดผลดีต่อประเทศ มันสามารถเกิดได้โดยไม่ต้องควบรวม”

 

นายสกนธ์  ระบุว่า ถ้ายอมให้มีการควบรวมกิจการสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา คุณภาพ ที่สำคัญโอกาสในการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีจะยากยิ่งขึ้น ประเด็นเหล่านี้จะต้องพิจารณาให้ดี ถ้าจะมีการอนุญาตต้องรอบคอบ

 

“อย่างหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือเรื่องของคู่ค้าต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ถ้าหากมีการรวมการเกิดขึ้นอำนาจต่อรองจะต้องน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นหมายความว่าการกำกับดูแลการแข่งขันไม่ได้มองการควบรวมแต่มองภาพใหญ่ในฝั่งคู่ค้าคู่แข่ง ผู้บริโภคสังคมและการพัฒนาประเทศในอนาคต”

 

 

ข้อเสนอ โทรคมนาคมไทย ควรไปทางไหน ???

ดร.สมเกียรติ เสนอว่า กสทช.จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะมีอำนาจตามกฎหมาย หากอำนาจไม่พอจะเสนอแก้ไขประกาศกลับไปใช้ประกาศเดิมก็สามารถทำได้ กขค.ที่มีกฎหมายแข่งขันทางการค้า แต่ถ้าไม่มีหน่วยงานใดทำ หน่วยงานที่สำคัญก็คือ รัฐสภา จะต้องเร่งทำให้โดยเร็ซที่สุด

 

“ถ้ากสทช.ไม่ทำบอกว่าไม่มีอำนาจต่อไปก็ไปที่ต้องเป็น กขค.ถ้ากฎหมายแข่งขันทางการค้าบอกว่าดูอยู่ แต่ถ้าไม่มีใครดูก็เข้าไปดู รัฐสภาต้องเร่งทำโดยเร็ว ถ้าจะต้องแก้กฎหมายก็ต้องรีบทำโดยเฉพาะกฏหมายแม่บทที่ต้องผ่านสภาต้องใช้เวลาซึ่งหมายความว่าชุดกรรมาธิการที่จะจัดตั้งขึ้น ถ้าสำเร็จก็จะต้องรีบสรุปโดยเร็ว อาจต้องทำควบคู่กับการเสนอกฎหมายประกบเข้าไปแก้ไขกฎหมาย กขค.ให้สามารถดูแลควบรวมกิจการแม้กระทั่งกรณีที่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีการผูกขาดน้อยลง”