อาจารย์ม.ดัง ร้องกสทช.-กขค.ตรวจสอบปมควบรวมทรู -ดีแทค

13 ธ.ค. 2564 | 15:14 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2564 | 22:20 น.

87 คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์-นิติศาสตร์ จากม.ดังทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กสทช.-กขค. ตรวจสอบการควบรวมทรู - ดีแทค

หลังจากค่ายทรูและค่ายดีแทคประกาศควบรวมกิจการพร้อมวางเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทเทคคอมพานี Technology Company อย่างไรก็ดีการผนึกกำลังกันในครั้งนี้ ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าจะเกิดการผูกขาดหรือไม่ 

 

ล่าสุดคณาจารย์จำนวน 87 คน จากคณะเศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วประเทศ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เกี่ยวกับปมการควบรวมกันในครั้งนี้  โดยต้องการให้กสทช.มีการตรวจสอบ ซึ่งเนื้อหารายละเอียดของแถลงการณ์ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้

 

ตามที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) ประกาศความประสงค์ที่จะควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน  ดังระบุในสารสนเทศที่ทั้งสองบริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานั้น

คณาจารย์เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จากสถาบันต่างๆ ขอเรียกร้องให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง แสดงความชัดเจนต่อสาธารณะที่จะทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะการออกมาตรการตรวจสอบและกำกับดูแลการควบรวมกิจการครั้งนี้อย่างเคร่งครัดและเพียงพอ


การประกาศควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ในครั้งนี้ แม้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ดังสารสนเทศที่ทั้งสองบริษัทแจ้งต่อ ตลท.ก็ตาม ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า น่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการแข่งขัน ผู้บริโภค และเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุผลสามประการดังนี้ 


ประการแรก หากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเหลือเพียง 2 ราย จากเดิม 3 ราย 


การควบรวมกิจการครั้งนี้ เป็นการควบรวมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งมีลักษณะผู้เล่นขนาดใหญ่น้อยรายเป็นทุนเดิม ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 ราย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 98 หากทรู และ ดีแทค ผู้ให้บริการสองรายใหญ่ ควบรวมกันได้สำเร็จ จะทำให้เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 ราย (duopoly)เท่านั้น
 

กล่าวคือบริษัทใหม่ของทรู-ดีแทค และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)(เอไอเอส)อันเป็นการกระจุกตัวที่เข้มข้นที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ในตลาดที่มีการแข่งขัน และดังนั้นจึงน่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อระดับการแข่งขัน และสวัสดิการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ การลดลงของการแข่งขันจะเพิ่มต้นทุนและลดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลของประชาชน

 

ประการที่สอง  โทรศัพท์เคลื่อนที่จัดเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 

 

นอกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยรายแล้ว ยังเป็นตลาดที่ใช้คลื่นความถี่ ทรัพยากรอันมีจำกัด และวันนี้จัดเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นรากฐานที่ขาดไม่ได้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

 

ดังนั้นในเมื่อการควบรวมกิจการครั้งนี้สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการดิจิทัล (digital companies) ผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (startups) และผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่กำลังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ (digitization) ซึ่งล้วนแต่อาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลโดยรวม

 


ประการที่สาม วิธีควบรวมกิจการที่อยู่ระหว่างการศึกษา จะก่อเกิดบริษัทใหม่และยุบเลิกบริษัทเดิม สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แม้ในช่วงการศึกษาความเป็นไปได้

 

จากสารสนเทศที่ทรู และ ดีแทค แจ้งต่อ ตลท.ทั้งสองบริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน โดยวิธีการควบบริษัท หรือ amalgamation ซึ่งหมายถึง การถ่ายโอนสินทรัพย์ หนี้สิน และกิจการทั้งหมด ของทั้งสองบริษัทไปอยู่ในบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ จากนั้นยุบเลิกบริษัทเดิมทั้งสอง โดยบริษัทใหม่จะเข้าจดทะเบียนใน ตลท.แทน

 

วิธีการควบบริษัท หรือ amalgamation นั้น นับเป็นวิธีควบรวมกิจการที่เข้มข้นที่สุด เนื่องจากจะต้องควบรวมทุกมิติของกิจการเข้าด้วยกันเป็นบริษัทใหม่ ดังนั้น ในระหว่างการตรวจสอบกิจการซึ่งกันและกัน (due diligence) จึงสุ่มเสี่ยงว่าอาจเกิดพฤติกรรมที่เข้าข่ายการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับราคาและเงื่อนไขการให้บริการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแผนการลงทุน เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจก่อผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้บริโภคและการแข่งขัน ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดการควบรวมกิจการอาจไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม

 

ด้วยเหตุผลทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. และ กขค. ไม่รีรออีกต่อไปในการใช้อำนาจตามกฎหมาย ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการควบรวมครั้งนี้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน อันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลทั้งสอง