เอกชนมองข้ามช็อตโควิด ติวเข้มรัฐบาล เดิมพันเศรษฐกิจปี 65 พ้นติดหล่ม

08 ธ.ค. 2564 | 18:04 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2564 | 01:22 น.

รัฐบาลประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ข้อมูล ณ วันที่ 5 ธ.ค. มีผู้เดินทางเข้าประเทศ ไทยแล้วกว่า 1.67 แสนคน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อ 208 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.13%

 

ขณะที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจกลับดำเนินการได้ตามปกติ รวมถึงได้เร่งมาตรการเพื่อกระตุ้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ ที่ยังสะดุดให้ฟื้นกลับคืนมา ทั้งภาคบริการ การท่องเที่ยว การลงทุน การบริโภคในประเทศ นอกเหนือจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

แต่ล่าสุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า 2-5 เท่า ที่ระบาดแล้วใน 47 ประเทศ (รวมประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนรายแรกแล้ว) ได้สร้างความตื่นตระหนกจะมีการระบาดของเชื้อโควิดในระลอกใหม่ที่อาจนำไปสู่การล็อกดาวน์หรือปิดประเทศอีกครั้ง และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย กลับไปชะลอตัวอีกครั้ง ซึ่งยังต้องลุ้นต่อสถานการณ์โควิดข้างหน้าว่าจะเป็นเช่นไร

 

 

เอกชนมองข้ามช็อตโควิด ติวเข้มรัฐบาล เดิมพันเศรษฐกิจปี 65 พ้นติดหล่ม

 

อย่างไรก็ดีเมื่อชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป และเศรษฐกิจไทยยังต้องไปต่อ หลายสถาบันได้ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ดีขึ้น เช่น สภาพัฒน์คาดจะขยายตัวได้ 3.5-4.5%, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 3.7%, คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 5-6% กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) 4.5% เป็นต้น (ยังไม่นับรวมปัจจัยเสี่ยงใหม่จากโควิดสายพันธุ์โอมิครอน)

 

ทั้งนี้สถาบันหลักภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.ได้ให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2565 ที่สำคัญ ได้แก่ การป้องกันและควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ไม่ให้กลับมาระบาดใหม่อีกครั้งเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ “โอมิครอน”, การเร่งรัดการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนตามเกณฑ์ขั้นตํ่าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น, ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการเยียวยา เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้และฟื้นฟูการจ้างงานให้คนกลับมามีรายได้

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

นอกจากนี้คือการอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนที่เข้าออกประเทศไทย, การเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพราะหากช้าจะทำให้ประเทศเสียโอกาส, ขับเคลื่อนภาคการส่งออก รักษาส่วนแบ่งในตลาดเดิม การเปิดตลาดใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง, กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ, เร่งรัดให้มีการลงทุนจริง จากผู้ที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 เฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายที่ล้าหลังให้สอดรับกับการทำธุรกิจ ยกเครื่องกฎหมาย ลดขั้นตอน และลดความยุ่งยาก เพื่อดึงการลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนโลกที่กระจายความเสี่ยงออกจากจีน เป็นต้น

 

ส่วนสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธาน สรท. มีข้อเสนอแนะรัฐบาลในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในปี 2565  ที่สำคัญได้แก่ เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู), เจรจากับประเทศจีนเพื่อให้สินค้าไทยสามารถ Transit ทางรางเพื่อส่งสินค้าจากไทยไปยุโรปผ่านระบบรถไฟของจีนตามเส้นทาง BRI (Belt Road Initiative), ส่งเสริมให้เกิดอี- คอมเมิร์ซซูเปอร์ แพลตฟอร์มของไทย, รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท 33-34  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ, เร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ยังขาดแคลนในภาคการผลิต 4-5 แสนคน และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

 

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

ด้านโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน ให้เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดในท่าเรือแหลมบัง, ส่งเสริมให้ไทยเป็น Transshipment Port เพื่อจูงใจให้นำเรือขนาดใหญ่เข้ามาในประเทศและเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องและลดปัญหาการล่าช้าของตารางเดินเรือ และขยายเวลาการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเป็น 24/7 (24 ชม. 7 วัน) เป็นต้น

 

เหล่านี้ คือคำแนะนำเพียงบางส่วนของภาคเอกชนต่อรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าโควิดปีที่ 3 ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นการมองข้ามช็อตโควิด หากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมเกิน 50% ของข้อเสนอแนะ เชื่อว่าไม่ว่าโควิดจะกลับมาระบาดในรอบใหม่หรือไม่ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวจากภายในและนอกประเทศ จะเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ โดยไม่ติดหล่มเหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3738 วันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2564