ไฮสปีด อีอีซีอ่วม แบงก์ยันโครงการมีความเสี่ยง ซีพีดิ้นขยายสัญญา

28 ต.ค. 2564 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2564 | 23:24 น.
3.7 k

ไฮสปีดเทรนอีอีซีจ่อสะดุด โควิดฉุดความเชื่อมั่นโครงการลดลง แบงก์เมินปล่อยกู้ การพัฒนาไม่ชัดเจน หลังซีพี ขอผ่อนจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ติดขัดวงเงินกู้เกินเพดาน ดิ้นขยายเวลาโครงการ “คณิศ” ยันยังมีเวลาเจรจาแก้ปัญหากู้เงินถึง พ.ย.65

 

สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กินระยะเวลานาน นอกจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนหยุดชะงักจากภาคเอกชนแล้ว สถาบันการเงินยังทบทวนการปล่อยสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพราะค่าประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐแต่ละโครงการลดลง

ตลอดจนปัญหาติดขัดของการส่งมอบพื้นที่ชนวนสำคัญที่สถาบันการเงินจะหยิบขึ้นมาพิจารณา โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี ชนะการประมูลในการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนหรือพีพีพี และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด อาจมีความเสี่ยงหรือต้องชะลอโครงการออกไป จากการเผชิญปัจจัยดังกล่าว

 

สะท้อนได้จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 เห็นชอบเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ให้กับโครงการดังกล่าว ในการขยายระยะเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

โดยกำลังพิจารณาให้แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด วงเงิน 10,671 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการ (PIC) และการขยายระยะเวลาโครงการฯ จากสัญญาจะแล้วเสร็จเปิดดำเนินการในปี 2567

ยังส่งมอบพื้นที่ไม่ได้100%

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ส่งมอบพื้นที่พร้อมก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) แล้ว 98.11% ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา ซึ่งเอกชนคู่สัญญาได้ทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563

ประกอบด้วย การสร้างถนน และสะพานชั่วคราวของโครงการ การสร้างโรงหล่อชิ้นส่วนทางวิ่งรถไฟ การสร้างบ้านพักคนงาน โดย รฟท. จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีก 1.89% ภายในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งต้องเวนคืนราว 100 สัญญา แต่คิดปัญหาว่าเจ้าของที่ดินบางรายไม่ยอมทำสัญญา

เนื่องจากยังไม่พอใจราคาของที่ดินอยู่อาศัยควรได้รับสูงกว่าที่กำหนดให้ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาจะได้ข้อยุติ ส่งมอบพื้นที่ได้ และเมื่อเอกชนคู่สัญญาตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท. จะออกหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (Notice to Proceed, NTP) คาดว่าประมาณเดือนมีนาคม 2565
 

ปัจจุบันจึงยังไม่ถึงขั้นตอนที่เอกชนคู่สัญญาต้องได้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะสัญญาร่วมลงทุนกำหนดว่าให้เอกชนคู่สัญญาทำสัญญาสินเชื่อโครงการกับสถาบันการเงิน (หรือสัญญาจัดหาเงินสนับสนุนสำหรับโครงการฯ) ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ รฟท. ออก NTP ซึ่งขั้นตอนการหาสินเชื่อจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2565

ไฮสปีด อีอีซีอ่วม  แบงก์ยันโครงการมีความเสี่ยง ซีพีดิ้นขยายสัญญา

ผู้โดยสารลดลงกระทบรายได้

ขณะที่การขยายเวลาชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ สถาน การณ์โควิดทำให้ผู้โดยสารลดลงจากประมาณ 7-8 หมื่นคน/วัน เหลือเพียง 1-2 หมื่น คน/วัน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน ซึ่ง รฟท. รับขาดทุนมาโดยตลอด และต้องให้มีการถ่ายโอนการดำเนินการตามกำหนดจึงไม่จัดเตรียมงบประมาณ ไว้ล่วงหน้า

ทางคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จึงหาทางแก้ไขโดยไม่ให้กระเทือนต่อประชาชนผู้โดยสาร โดยวันที่ 20 ตุลาคม 2564 รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้บริหารสัญญาร่วมลงทุน ในการแก้ไขปัญหาโครงการฯ เพื่อให้เอกชนเข้ารับดำเนินการ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

“ในวันที่ลงนามบันทึกข้อตกลง เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงินจำนวน 1,067.11 ล้านบาท หรือราว 10 % ในสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ต เรลลิงก์จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามบันทึกข้อตกลงช่วง 3 เดือนนี้ และเอกชนได้เสนอการลงทุนพัฒนาแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วย อีกทั้ง ก่อนหน้านี้เอกชนได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ในการดำเนินการปรับปรุงระบบและบริการ”

 

ยันไม่ได้เอื้อเอกชน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน แต่การที่รัฐเข้ามาเยียวยา ไม่ได้หมายความว่าเข้าไปเอื้อประโยชน์ จนนำไปสู่แก้ไขขยายสัญญา

เพราะกลุ่มซีพียังยืนยันจะเดินหน้าต่อตามกำหนดในทีโออาร์ เพียงแต่สถานการณ์โควิด ทำให้รายได้ธุรกิจลดลง และนำมาสู่การแบ่งจ่ายค่าสิทธิ์การเช่าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งรฟท.คู่สัญญาได้บวกดอกเบี้ยเพิ่มจากการแบ่งจ่าย กว่า 1,000 ล้านบาท และจะโอนสิทธิ์ให้เอกชนต่อเมื่อชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดแล้ว

ส่วนกรณีที่สถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับให้โครงการฯนั้น ยังมีเวลาอีกนานหลังจากเดือนมีนาคม 2565 และมองว่าไม่ใช่แค่สถาบันการเงินในไทยเท่านั้น แต่รวมถึงสถาบันการเงินในต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้าง

โครงการฯยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งใช้ระยะเวลาอีก 5 ปีที่จะเปิดให้บริการ แต่ที่จะได้รับผลกระทบคือเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่ลดลง

 

จับตารัฐเสียเปรียบ

แหล่งข่าวแวดวงรับเหมาก่อสร้างระบุว่า ทั้งสถานการณ์โควิดและความล่าช้าของรฟท.ในการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งทั้ง 2 กรณีไม่มีความแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด และอาจส่งผลต่อเอกชนคู่สัญญาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ที่นำไปสู่การขยายระยะเวลาสัญญาออกไป ขณะที่รัฐคงไม่พิจารณาประมูลใหม่ เพราะเดินมาไกลมากแล้ว หากถอยหลังย่อมเสียเวลาเนื่องจากอีอีซีดำเนินงานมาแล้ว 7 ปี ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม

“ในสัญญาโครงการนี้จะเปิดดำเนินงานในปี 2567 และใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ดังนั้นเหลือระยะเวลาก่อสร้างเพียง 3 ปี คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเปิดได้ทัน ทางเอกชน จึงจะต้องขอขยายระยะเวลาสัญญาออกไปจากผลกระทบโควิดและการส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ อีกทั้งนักลงทุนรายใหญ่จะใช้วิธีออกหุ้นกู้ หรือกู้จากแหล่งอื่น ต้องแบกดอกเบี้ยที่สูงกลายเป็นต้นทุน ในการพิจารณาความเสี่ยงของโครงการอีกด้วย”

 

แบงก์ไม่มั่นใจปล่อยกู้

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่มีการยื่นคำขอกู้เงินจากธนาคาร เข้าใจว่าผู้ดำเนินโครงการอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาล เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนโครงการดังกล่าว เช่น

โครงการลงทุนมักกะสันที่ยังมีข้อจำกัด และอีกหลายเรื่องที่ยังต้องเจรจาขอเลื่ยนกับรัฐบาล ซึ่งมองว่าโครงการดังกล่างมีระยะเวลา 50 ปี การกู้เงินมาเฉพาะดอกเบี้ยจะจ่ายไหวหรือเปล่ายังไม่รู้ ที่สำคัญกลุ่มซีพีมีวงเงินกู้กับสถาบันการเงินเกินเพดานแล้ว ซึ่งตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ให้ปล่อยกู้ โดยกำหนดอัตราการปล่อยสินเชื่อหรือ SLL ลูกหนี้รายใหญ่ ไว้ไม่ให้เกิน 25% ของเงินกองทุนต่อกลุ่มธุรกิจ

 แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์อีกราย กล่าวว่า โครงการนี้จะต้องใช้วงเงินกู้จากธนาคารสัดส่วน 80% ของมูลค่า 2.24 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท โดยเชื่อว่า กลุ่มซีพีจะมีการเจรจากับธนาคารใหญ่ในประเทศอย่างน้อย 4 แห่ง(TOP4) ที่จะมีบทบาทหลัก

อย่างไรก็ตามในหลักการแม้ว่าโครงการนี้จะมีประโยชน์ต่อการขนส่งหรือการท่องเที่ยวของประเทศ แต่ธนาคารก็ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ดูรายละเอียดของโครงการ อัตราผลอบแทนจากการลงทุน หรือมีความเสี่ยงเป็นอย่างไรบ้าง และจะต้องใช้เวลาลงทุนแล้วกี่ปีจึงจะคุ้มทุนภายในกี่ปี และธปท.มีเกณฑ์ไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของสินเชื่อโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่