รฟท.พร้อมแก้ปัญหาไฮสปีดเทรน แอร์พอร์ต ลิงก์ ไม่หยุดชะงัก

28 ต.ค. 2564 | 11:33 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2564 | 18:41 น.

การรถไฟฯ พร้อมดำเนินการตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เดินหน้าแก้ไขปัญหาไฮสปีดเทรน การให้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

 

ปัญหาสถานการณ์โควิด-19ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ล่าสุดนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพื่อให้การบริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก จนเกิดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งนี้ ตามที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญา ได้มีหนังสือถึงการรถไฟฯ ที่ ESHR1-ARX-EHSR3AL-SRT-LETR-000009 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เรื่องขอให้พิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในส่วนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด 19

รฟท.พร้อมแก้ปัญหาไฮสปีดเทรน แอร์พอร์ต ลิงก์ ไม่หยุดชะงัก

 

ตามหนังสือของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญา ดังกล่าวข้างต้น แจ้งปัญหากรณีวิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการฯ โดยขอรับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ การขอขยายระยะเวลาการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่นๆ ได้แก่

การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการฯ และการขยายระยะเวลาโครงการฯ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564

ได้มีมติรับทราบปัญหาดังกล่าวและได้มอบหมายให้ การรถไฟฯ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการกำกับดูแลของโครงการฯ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาตามหลักการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายเกี่ยวข้องกำหนด

โดยในระหว่างการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนให้การรถไฟฯ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญา ร่วมกันเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นการเร่งด่วน โดยให้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการตามมติที่มีการมอบหมายการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมติฯดังกล่าว โดยการรถไฟฯ ยึดหลักการและแนวทางที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ

ในขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังต้องคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร โดยให้มีผลกระทบต่อการรถไฟฯ น้อยที่สุด รวมถึง การดำเนินการเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนี้ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญระดับประเทศเดินหน้าต่อไปได้ อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างมั่นคง

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดังนั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนและมีผลกระทบต่อการรถไฟฯ น้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุด

ของประเทศได้ การรถไฟฯ จึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ร่วมกับทางบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนคู่สัญญา โดยบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นนี้ ซึ่งเป็นการบริหารสัญญาภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมลงทุนเดิมเพื่อแก้ไขปัญหาในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่กระทบบริการสาธารณะในช่วงที่การรถไฟฯ และเอกชนคู่สัญญาอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

โดยในบันทึกข้อตกลง (MOU) ดังกล่าวมีรายละเอียดอันเป็นหลักการในเบื้องต้น ดังนี้

• บันทึกข้อตกลงสิ้นสุดผลการใช้บังคับเมื่อครบ 3 เดือน นับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564

• การรถไฟฯ ยังไม่มอบสิทธิการดำเนินการโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้แก่เอกชน และ

การรถไฟฯ มีสิทธิรับรายได้ค่าโดยสารและรายได้จากการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์

• โดยระหว่างที่มีการพิจารณาเงื่อนไขของสัญญาอยู่นั้น จะให้เอกชนคู่สัญญาเข้ามาช่วยสนับสนุนการรถไฟฯ และบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด ในการดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

ตามขอบเขตงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเอกชนจะสนับสนุนบุคลากรและรับความเสี่ยงทั้งหมด

โดยการรถไฟฯ บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด และที่ปรึกษาของการรถไฟฯ จะกำกับดูแล

ให้การดำเนินงานเป็นไปตาม KPI ที่บันทึกข้อตกลงฯ กำหนด รวมทั้ง เอกชนคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยเอกชนสามารถนำรายได้ค่าโดยสารไปชำระค่าใช้จ่ายได้ แต่หากมีกำไรต้องส่งคืนให้การรถไฟฯ หากรายได้ค่าโดยสารไม่เพียงพอชำระค่าใช้จ่ายในงานที่ได้มอบหมายให้ดำเนินการ เอกชนจะต้องเป็นผู้ชำระในส่วนที่เกิน

• เอกชนจะต้องทำประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

• เอกชนคู่สัญญาต้องชำระเงิน 10% ของค่าสิทธิในการบริหารตามสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นเงิน 1,067 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฯ และสัญญาร่วมทุนฯ

• การรถไฟฯ มีสิทธิยึดถือหลักประกันจนกว่าจะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ และหากต้องคืนหลักประกัน การรถไฟฯ คืนโดยไม่มีดอกเบี้ย

• หากไม่แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 หรือที่ขยายเพิ่มเติม การรถไฟฯ มีสิทธิริบหลักประกันเพื่อนำมาชำระการไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชน

 

การรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

ในการเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาการให้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก ไม่เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการ การรถไฟฯ ขอยืนยันว่า การดำเนินการต่างๆนั้น

 

การรถไฟฯ ยึดหลักการและแนวทางที่คำนึงถึงผลกระทบของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้ง คำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ขององค์กรและประเทศชาติเป็นสำคัญ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญระดับประเทศ การดำเนินการต่างๆนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและครอบคลุมในทุกมิติ โดยจะไม่มีการดำเนินการใดๆอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบอย่างเด็ดขาด.