ศกพ.เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ช่วงฤดูหนาว

25 ต.ค. 2564 | 16:59 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 00:41 น.
654

ศกพ.เตรียมพร้อมในการรับมือฝุ่น PM2.5 ฤดูหนาวปลายต.ค.นี้-ก.พ.65ลมอ่อน สภาพอากาศนิ่งทำให้ฝุ่นขนาดเล็ก สะสม

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM2.5 โดยจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าในช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนธันวาคม 2564

ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะๆ โดยจะมีกำลังอ่อนถึงปานกลาง จากนั้นถึงเดือนมกราคม 2565 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่เสริมลงมาโดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ลักษณะอากาศอากาศจะแปรปรวน เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ดังนั้นในตอนที่ความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมมีกำลังอ่อนหรือเริ่มถอยกลับ

 

จะส่งผลให้ลมอ่อน สภาพอากาศนิ่ง การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดีและมีโอกาสสะสมในพื้นที่โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งอาจส่งผลให้ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 วันนี้ (25 ตุลาคม 2564) ว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมากทั่วทุกภาคของประเทศไทย

โดยตรวจวัดได้อยู่ในช่วง 5-27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจากข้อมูลศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ คาดการณ์ว่าตั้งแต่วันนี้ถึงปลายเดือนตุลาคม 2564 สถานการณ์โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีเนื่องจากเพดานการลอยตัวอากาศและความเร็วลมมีแนวโน้มสูงขึ้น และจะมีลมตะวันออกเฉียงเหนือช่วยทำให้การระบายในพื้นที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงวันที่ 24-26 ตุลาคม 2564 ในช่วงเวลากลางคืนไปถึงเช้ามืดมีโอกาสเกิดสภาวะอากาศนิ่งและเกิดการสะสมของฝุ่นละอองได้

             ศกพ.เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ช่วงฤดูหนาว    

นายอรรถพล กล่าวว่า ทส. ได้มีการเตรียมความพร้อมการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยได้ยกร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ปี 2565 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานที่ต้องเร่งรัดและเน้นย้ำการปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564

โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการร่างแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 ภายใต้แนวคิด “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ” ซึ่งจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักพบมีแนวโน้มสูงขึ้นและเกินมาตรฐานเป็นครั้งคราวในช่วงปลายปี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากยานพาหนะกว่า 50% โดยเฉพาะรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

นอกจากมาตรการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ศกพ.ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชนมีส่วนร่วมในการลดมลพิษภายใต้โครงการ “คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” ซึ่งปีนี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยเป็นความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้รถยนต์ใช้งานที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป มารับบริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามศูนย์บริการรถยนต์แต่ละยี่ห้อในราคาลดพิเศษ โดยบริษัทรถยนต์เข้าร่วม 11 บริษัท

ประกอบด้วย บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) ทั้งนี้ จากการทดสอบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในห้องปฏิบัติการทดสอบมลพิษจากยานพาหนะ พบว่า การบำรุงรักษาแบบ Preventive Maintenance จะช่วยลดการระบายควันดำลงได้เฉลี่ย 25%

                นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ศกพ.ยังได้ขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ 2 แห่ง ให้จำหน่ายในช่วงวิกฤต PM2.5 ในราคาปกติ คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันบางจากในพื้นที่กรุงเทพฯ

ระหว่างเดือนธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 โดยได้มีการดำเนินการมาแล้วในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ทั้งนี้จากการทดสอบการใช้น้ำมันดีเซลที่มีคุณลักษณะเทียบเท่า EURO 5 หรือมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm จะสามารถลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ได้ประมาณ 24% เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลที่มีคุณลักษณะเทียบเท่า EURO 4 หรือมีกำมะถันไม่เกิน 50 ppm โดยรถยนต์เก่าจะสามารถเติมน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำได้โดยจะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องยนต์

ศกพ.เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ช่วงฤดูหนาว