"กนอ." ชู 4 ปัจจัยหลักสอดรับ Smart Eco สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

20 ต.ค. 2564 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 18:14 น.

กนอ. ชู 4 ปัจจัยสู่รับ Smart Eco สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน กลางวงเสวนา ASEAN Sustainable Energy Week 2021

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการประชุมและนิทรรศการนานาชาติด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อมนานาชาติ หรือ ASEAN Sustainable Energy Week 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมรากฐานพัฒนายั่งยืนสู่ไทยก้าวไกลระดับโลก” ภายใต้หัวข้อ “Smart Eco Industrial อุตสาหกรรมยั่งยืน” โดยระบุตอนหนึ่งว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยที่ กนอ.มุ่งส่งเสริมเพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนและเป็นรากฐานในการจัดทำแผนแม่บทในอนาคต ที่ กนอ.ดำเนินงานอย่างเข้มงวด ขณะนี้มี 4 แนวทาง คือ 
1.กนอ.จะนำแนวคิด BCG Economy ของรัฐบาลมาเป็นแกนหลักในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตลอดจนปรับใช้ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่สอดคล้อง ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งการประสานงานเข้าด้วยกันจะก่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม 

2.การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โครงการ Eco Efficiency ของ กนอ. โดยในปี 2563 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 1.2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5 แสนกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสำนักงาน การจัดทำโครงการลดของเสียในหน่วยงาน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปี 2564 และคาดว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 7 แสนกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.
3.แนวทางการพัฒนา Facility 4.0 ของ กนอ. มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหลายๆ ด้าน อาทิ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนุรักษ์พลังงาน การบริหารจัดการระบบน้ำประปาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบควบคุมอัตโนมัติ (Smart Water Management) ระบบไฟฟ้าใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก มีระบบเครือข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid System) มีระบบถนนที่เพียงพอรองรับจำนวนพาหนะ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบดับเพลิงและป้องกันอุบัติเหตุอุบัติภัย ระบบติดตามตรวจสอบมลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น 

และ 4.ตัวชี้วัดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและตัวอย่างการดำเนินงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 และโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 โดยมีการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมด้วยระบบ Smart industry 4.0 มีระบบการบริหารจัดการภายในแบบเรียลไทม์ เพื่อควบคุมกระบวนการผลิตได้ง่าย ตรวจสอบการทำงานย้อนหลังได้ ข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำและต่อเนื่อง และสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบได้
“BCG Economy ของรัฐบาลสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ กนอ. คือ แนวคิด Smart Eco 4.0 ที่ผสมผสานระหว่างองค์ประกอบหลักอย่างกลมกลืน ภายใต้การดำเนินงานตามกฎหมายต่างๆ อย่างเคร่งครัด”