"กนอ." จ้างเอกชนลุยงานก่อสร้างสมาร์ท ปาร์ค รับ New S-curve

30 ก.ย. 2564 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 22:49 น.

กนอ. เซ็นสัญญาว่าจ้างเอกชน ลุยงานก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม สมาร์ท ปาร์ค รองรับ New S-curve หวังปรับฐานผลิตของไทยสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด ก่อสร้างและควบคุมงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จังหวัดระยอง  รวมถึงจ้างกิจการค้าร่วมบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ดี.เอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท พี แอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด และบริษัท วิสิทธิ์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด ควบคุมงานก่อสร้าง เพื่อเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานหลังจากลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ 
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน และจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 67 เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) โดยที่ประโยชน์ทางตรงที่จะเกิดกับเศรษฐกิจจากการลงทุนในสมาร์ท ปาร์ค คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถสร้างมูลค่าของจีดีพีในประเทศต่อปีอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานในระยะก่อสร้างประมาณ 200 คน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนประมาณ 24 ล้านบาทต่อปี ส่วนในระยะดำเนินการคาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 7,500 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อปี

สำหรับโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค สอดคล้องกับการทำงานของ กนอ. ที่มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดหาและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ให้มีการต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.
ทั้งนี้ กนอ.ได้พิจารณาการส่งเสริมและต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ตั้งโครงการ แหล่งวัตถุดิบ และตามแนวความคิดการพัฒนาโครงการที่มีความเป็นมิตรต่อชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

“นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการอีอีซี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีความคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ เกิดการพัฒนาเมือง และชุมชน การพัฒนาสาธารณูปโภคหลัก เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุน และปรับฐานการผลิตของประเทศไทยให้เข้าสู่การผลิตในอนาคต”