“ม็อบเกษตรกร” บุกทวงสัญญาแก้หนี้สิน 4 แบงค์รัฐ เคว้ง

11 ต.ค. 2564 | 20:04 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2564 | 03:04 น.

ม็อบเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ กังขา “จุรินทร์” ไฟเขียวแก้หนี้สิน 4 แบงก์รัฐ กว่า 5 พันล้าน ยังเคว้ง กระทุ้ง เร่งรัดเข้า ครม. ด้าน คลัง ตั้งข้อสังเกตล้างหนี้ให้เกษตรกร อาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท

 

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) หน่วยงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เผยระหว่างการรับหนังสือจากผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 20 ราย นำโดยนายจารึก บุญพิมพ์ ผู้แทนเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประธานกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ได้เข้ายื่นหนังสือไปยังรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

 

“ขอให้เร่งรัดติดตามโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ตามมติของคณะกรรมการ กฟก. และให้เร่งติดตามการของบประมาณ งบกลางปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5,540.80 ล้านบาทเศษ เนื่องจากสำนักงาน กฟก. ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมา 3 ปีต่อเนื่อง (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563)”

 

สำหรับการเข้ามายื่นหนังสือดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้แทนเกษตรกรไม่เห็นด้วยต่อการตั้งข้อสังเกตและเสนอแนะของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 1006/4256  ลงวันที่ 29 กันยายน 2564 โดยมีประเด็นข้อสังเกตที่สำคัญว่าการร้องขอจัดสรรงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรโดยให้ภาครัฐชำระหนี้แทนเกษตรกรนั้น อาจส่งผลกระทบต่อวินัยการก่อหนี้และชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งอาจขยายผลเป็นวงกว้างต่อลูกหนี้รายย่อยทั้งระบบ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและวินัยการเงินของประเทศ

นอกจากนี้ผู้แทนเกษตรกรยังไม่เห็นด้วยที่กระทรวงการคลังได้มีการเชื่อมโยงเหตุผลดังกล่าวว่าการดำเนินการตามโครงการนี้ธนาคารเจ้าหนี้ควรได้รับการชดเชยทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มจำนวน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร หรือสถาบันเจ้าหนี้ ซึ่งการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่สมควรดำเนินการในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามที่ได้เสนอไป

 

“เกษตรกร” ก็ถือเป็นประชาชนที่ได้จ่ายภาษีเพื่อที่จะนำมาพัฒนาประเทศ สมควรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรนั้น ได้เคยดำเนินการมาแล้วเมื่อปี 2553 เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้กว่า 27,000 ราย

 

“เรื่องนี้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้มีมติอนุมติให้ดำเนินการแล้ว แต่ติดปัญหาอยู่ที่กระทรงการคลังที่ตั้งข้อสังเกตและเสนอแนะขอให้ สำนักงาน กฟก. คำนึงถึงภาระงบประมาณพร้อมทั้งผลกระทบที่จะตามมาจากการดำเนินการ ซึ่งหลังจากรับหนังสือจากผู้แทนเกษตรกรแล้ว จะนำเรื่องรายงานต่อท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรก ซึ่งเบื้องต้นท่านจุรินทร์ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว” นางรัชฎาภรณ์ กล่าว

 

ทั้งนี้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีภารกิจสำคัญ คือ การฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรและแก้ปัญหาหนี้สินให้พี่น้องเกษตรกร จากการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 30 กองทุนฟื้นฟูฯ ได้มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม เน้นการเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ให้กับพี่น้องสมาชิกเกษตรกรกองทุนฟื้นฟูฯ รายย่อย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น