เกษตรกรเฮ ‘จุรินทร์’ ไฟเขียว แก้หนี้แสนล้าน

28 ม.ค. 2563 | 00:20 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2563 | 17:50 น.
4.7 k

บอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ กล่อมสมาคมธนาคารไทยสำเร็จ ลูกหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ขึ้นทะเบียนภายใน 31 ธ.ค. 61 ตัดเงินต้น 50% เว้นดอกเบี้ย-ค่าปรับ ชงรัฐชดเชยแทน “จุรินทร์” รับหลักการ เตรียมชง ครม.ไฟเขียวแก้หนี้เกษตรกรแสนล้าน

 

ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ 1/2563 (23 ม.ค. 63) มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีวาระการประชุม 12 วาระ ที่เป็นวาระเร่งด่วนคือการแก้ไขหนี้เกษตรกรกว่า 5.4 แสนราย รวมกว่า 7 หมื่นสัญญา วงเงิน 1.01 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล กรรมการผู้แทนเกษตรกร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริหาร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในส่วนของบอร์ดได้รายงานความคืบหน้าในการเข้าประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนหนี้ เป็นลูกหนี้ 4 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) นั้นได้สรุปเห็นชอบแล้วในหลักการจัดการหนี้

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

● ย้อนรอย10โรคระบาดป่วนโลกเสียชีวิตกว่า50ล้านคน(มีคลิป)

● คนอู่ฮั่น ตะโกนลั่นเมือง "อู่ฮั่นสู้ตาย"(มีคลิป)

● จี้แลกรถเก่า ดีเซล4ล้านคัน ลดฝุ่นPM2.5

 

“ในที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยให้สำนักงาน กฟก. สรุปรายชื่อเกษตรกรสมาชิก กฟก. ที่สามารถดำเนินการได้และไม่สามารถดำเนินการได้ให้สมาคมธนาคารไทยดำเนินการตรวจสอบรายชื่อในการหาแนวทางให้ความช่วยเหลือต่อไป สาระสำคัญคือสมาชิกที่เป็นหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และหนี้ NPA (สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) นั้น ลำดับสูงสุด เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวนกว่า 3 แสนราย มีกว่า 4 แสนสัญญา จำนวนเงินกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นธนาคารพาณิชย์ จำนวน 1.9 หมื่นราย กว่า 2 หมื่นสัญญา มูลหนี้กว่า 1.5 หมื่นล้านบาท”

 

เกษตรกรเฮ ‘จุรินทร์’  ไฟเขียว แก้หนี้แสนล้าน

 

ทั้งนี้ผลเจรจากับสมาคมธนาคารไทย พร้อมให้ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ โดยเงินต้นจะเหลือแค่ 50% ส่วนดอกเบี้ย ค่าเบี้ยปรับ และอื่นๆ หากยกให้เกษตรกร จะเกิดความเสียหายต่อธนาคาร ดังนั้นแต่ละธนาคารยินดีที่จะทำเรื่องขอชดเชยจากรัฐบาล โดยรัฐบาลอาจจะชดเชยในรูปภาษีหรือค่าธรรมเนียมอะไรต่างๆ หรือจะใช้กฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 186 (ปี 2534) ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ หรือกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 262 (ปี 2549) ที่ระบุชัดถึงการกำหนดคุณสมบัติการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ให้เกษตรกรสามารถกระทำได้

 

โดยจำกัดคำว่า “เกษตรกร” หมายความถึงเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้กับ กฟก. ซึ่งสอดรับกับตัวองค์กรที่มี พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 รับรองอยู่แล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ส่งเข้าที่ประชุมบอร์ดกฟก.ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเพื่อให้ความเห็นชอบ ล่าสุดนายจุรินทร์ได้รับหลักการ และเห็นชอบแล้ว และจะได้นำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

“ส่วนหนี้สหกรณ์มีปัญหาเนื่องจากสหกรณ์ไม่ยอมรับเงื่อนไขที่กองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้ไม่เกิน 100% ของเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 5% และบังคับให้สมาชิกต้องจ่ายค่าส่วนต่าง ทำให้เกษตรกรถูกหักค่าหุ้นและเงินปันผลหรือกู้ยืมเงินนอกระบบมาจ่ายให้สหกรณ์ จึงทำให้เกษตรกรมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาก็ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ มีเกษตรกร 1.7 แสนราย จำนวนกว่า 2.16 แสนสัญญา มูลหนี้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563