ผปก.ยังกังวลโควิด-น้ำท่วม ทำความเชื่อมั่นหอฯลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

07 ต.ค. 2564 | 15:03 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2564 | 22:12 น.
837

ความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่อยู่ 19.4 เนื่องผู้ประกอบการยังกังวลโควิด น้ำท่วม ราคาน้ำมัน คาดหวังรัฐออกมาตรการกระตุ้นดันเศรษฐกิจทั้งปีโตให้ได้เป็นบวก 1-1.5% ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือน ก.ย.64 ปรับตัวมาที่ 41.4 ในรอบ 7 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 369 ตัวอย่าง  พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการหอกาค้าไทยอยู่ที่ระดับ 19.4 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564  ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 17.9 การบริโภค อยู่ที่ 22.9  การลงทุน  อยู่ที่ 18  การท่องเที่ยว อยู่ที่ 10.8  และการจ้างงาน อยู่ที่ 18.7  เป็นต้น  ขณะที่  ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยรวมก็ยังไม่ดีขึ้นทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

ผปก.ยังกังวลโควิด-น้ำท่วม ทำความเชื่อมั่นหอฯลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

โดยปัจจัยที่กระทบ  เช่น  ความวิตกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบจากน้ำท่วม  ความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น  และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า  ซึ่งเป็นผลต่อความกังวลของผู้ประกอบการ  ขณะที่  ปัจจัยบวก เช่น  การผ่อนคลายล็อคดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น  จำนวผู้ติดเชื้อรายวันลดลง  การส่งออกไทยขยายตัว ราคาพืชผลปรับตัวดีขึ้น

“  ปัญหาน้ำท่วม  ราคาน้ำมัน  การแพร่ระบาดของโควิด-19  ยังคงต้องติดตามเนื่องมีผลกระทบ เพราะแม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการแล้ว ผู้ประกอบการก็ยังมีความกังวลอยู่ ซึ่งก็คาดหวังว่าการเลือกตั้ง อบต. จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วงให้เศรษฐกิจคึกคัก และผู้ประกอบก่ารก็คาดหวังว่ารัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ น้ำท่วมคลี่คลาย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ดีขึ้นและส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตเป็นบวกได้”

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเดือนกันยายน 2564  อยู่ที่ระดับ 41.1 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ โดยอนุญาตให้เปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น  ประกอบการติดเชื้อโควิด-19 ดีขึ้น  การฉีดวัคซีนคาดว่าสิ้นปี 2564 จะคลอบคลุมประชากรได้ 70%  แม้ว่าจะดีขึ้นแต่ไม่ได้ทำให้การบริโภค จับจ่ายซื้อสินค้ากลับมาอย่างรวดเร็วยังต้องติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญที่กระทบ คือ สถานการณ์น้ำท่วม จะสามารถคลี่คลายลงได้หรือไม่  ราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งมองว่าจะอยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ไม่มากไปกว่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นได้ค่อนข้างมาก และปัญหาการเมืองในประเทศ

"ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตไม่น้อย แต่การฟื้นตัครั้งนี้ก็ถือว่าเห็นสัญญาณบวก แต่ดัชนีฯหลายตัว ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 ค่อนข้างมาก ดังนั้น  ต้องดูว่ารัฐมีมาตรการใหม่ๆออกมาหรือไม่ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบได้มากกว่านี้ ส่วนประเด็นการเปิดประเทศก็ต้องดูว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากน้อยแค่ไหน เพราะหากเปิดแต่ละจุดจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในระยะ 2 เดือนประมาณ 2-3 แสนคน ซึ่งจะเกิดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ 1-2 หมื่นล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.05-0.1%”

อย่างไรก็ดี  โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม รวมไปถึงมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาล หากรัฐสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น น้ำท่วมคลี่คลาย การมีวัคซีน มายาเข้ามาช่วยรักษาซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลง เชื่อว่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นโอกาสทางเศรษฐกิจและทั้งปี เศรษฐกิจไทยจะโอกาสเติบโตได้อยู่ที่ 1-1.5% และในเดือนพฤศจิกายน 2564  ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะมีการปรับ GDP ใหม่อีกครั้ง

 

ผปก.ยังกังวลโควิด-น้ำท่วม ทำความเชื่อมั่นหอฯลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ด้านนายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกันยายน 2564 โดยสมรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,241 คนทั้วประเทศ พบว่า อยู่ที่ระดับ 41.1 จากระดับ 39.6 ในเดือนสิงหาคม 2564  ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 35.5 จาก 33.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ระดับ 37.8 จาก 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.8 จาก 48.6

โดยมีปัจจัยบวก คือ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ธุรกิจและประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจได้ใกล้เคียงปกติ รวมทั้งขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปเป็น 22.00-04.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป, การฉีดวัคซีนของโลกและการฉีดวัคซีนในประเทศที่เริ่มเป็นรูปธรรมและปรับตัวดีขึ้น, ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการ "เราชนะ" "ม.33 เรารักกัน" "คนละครึ่งเฟส 3" "ยิ่งใช้ยิ่งได้" "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3" ตลอดจนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่อง "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" และ "สมุย พลัส", คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี, การส่งออกเดือน ส.ค. ขยายตัว 8.93% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน, ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อกากรดำเนินชีวิต ธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, ระดับระคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง, ผู้บริโภค มีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนค่าครองชีพและราคาสินค่ายังทรงตัวในระดับสูง, ดัชนี SET INDEX ปรับตัวลดลง 33.07 จุด และ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย