สศค.ชี้โควิดระบาดหนัก ฉุดเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น เดือน ก.ค. ลดต่อเนื่อง

30 ส.ค. 2564 | 14:01 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2564 | 21:16 น.

สศค. เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ชะลอตัวต่อเนื่อง หลังเอกชน-ผู้บริโภคชะลอใช้จ่ายเหตุกังวลโควิด-19 ยังระบาดหนัก ชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี หนี้สาธารณะอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูงที่ 248 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่าส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

 

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -9.8 และ -17.7 ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงร้อยละ -13.3 และ -16.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 40.9 จากระดับ 43.1 ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลาย  อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 22.9 และ 6.2 ต่อปี ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนกรกฎาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -12.4 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -12.0 ต่อปี สอดคล้องกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ร้อยละ -11.6 ต่อปี อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 32.6 ต่อปี

 

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ร้อยละ 20.3 ต่อปี และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 25.4 ต่อปี ทั้งนี้ พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย จีน และสหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 75.3 41.0 และ 22.3 ต่อปี ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณขยายตัวจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินเข้าประเทศไทยสูงสุดในรอบ 16 เดือน โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 18,056 คน สูงสุดในรอบ 16 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิสราเอล ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตามโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จำนวน 14,055 คน สำหรับการท่องเที่ยวของชาวไทย จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่  869,248 คน ลดลงที่ร้อยละ -91.3 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลาย

 

สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2564 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.9 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 78.9 จากระดับ 80.7 ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการระบาดในคลัสเตอร์ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต 

 

อย่างไรก็ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.45 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.25 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.14 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 55.2 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 248 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะเศรษฐกิจการคลัง ก.ค. 64