อัดซอฟต์โลน 8 พันล้านรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว นำร่องจับคู่กู้เงิน ก.ย.นี้

29 ส.ค. 2564 | 10:01 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2564 | 17:02 น.
842

กระทรวงท่องเที่ยวถกคลังได้ข้อสรุป กันซอฟต์โลน 8 พันล้านบาทรีสตาร์ตธุรกิจท่องเที่ยว ปลดล็อกหลักประกัน เปิดให้คํ้าประกันไขว้ ทั้งเดินหน้าโครงการจับคู่กู้เงิน วันที่ 8-9 ก.ย.นี้ ดึง 186 ราย แมทชิ่ง 7 ผลิตภัณฑ์แบงก์ออมสิน-เอสเอ็มอีแบงก์ หนุนเอสเอ็มอีรับเปิดประเทศ

จากปัญหาที่ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน)ได้ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือด้านซอฟต์โลนออกมามากมาย ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวชะงัก แม้รัฐบาลมีแผนนำร่องเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว  แต่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ยังไม่สามารถกลับมาเปิดธุรกิจได้ เพราะไม่มีทุน

 

ทำให้ล่าสุดกระทรวงท่องเที่ยวฯได้หารือกับกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกใหม่ โดยกระทรวงการคลังพิจารณาจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมวงเงิน 7,000-8,000 ล้านบาทมาช่วยเหลือ เพื่อรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

 

กัน 8 พันล.รีสตาร์ทธุรกิจ

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน 5 สมาคมท่องเที่ยวตามที่ร้องขอมา คือ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมสปาไทย และสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย หลังจากได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 อย่างหนัก และได้รับผลกระทบจากการจำกัดกิจกรรมต่างๆ

 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องการซอฟต์โลนราว 1 หมื่นล้านบาทเพื่อนำรีสตาร์ทธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการที่ ปิดกิจการชั่วคราวไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจ้งว่าตอนนี้มีเงินอยู่ประมาณ 7,000- 8,000 ล้านบาทที่จะนำมาใช้ได้ และได้มอบหมายให้ปลัดของทั้ง 2 กระทรวงไปหารือแนวทางดำเนินการร่วมกันต่อไป

 

อัดซอฟต์โลน 8 พันล้านรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว นำร่องจับคู่กู้เงิน ก.ย.นี้

 

นอกจากนี้ยังเห็นชอบเป็นพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้เพียงค้ำประกันไขว้ระหว่างผู้บริหารที่มีอำนาจของนิติบุคคลของแต่ละธุรกิจ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้น ซึ่งการค้ำประกันไขว้เป็นรูปแบบที่เคยทำมาแล้วในอดีต ตอนนั้นก็ไม่ได้เกิดความเสียหายอะไร และผมจะประชุมร่วมกับ5 สมาคมท่องเที่ยวในวันที่ 30 ส.ค.นี้ เพื่อหารือถึงรายละเอียดความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการแต่ละรายและเงื่อนไขต่างๆด้วย

 

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าวงเงินซอฟต์โลน 8,000 ล้านบาทที่จะนำมาช่วยเหลือและรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยวนั้น เป็นวงเงินตกค้างมาจากมาตรการซอฟต์โลนของรัฐบาลที่ออกมาต่อเนื่องนับจากเกิดโควิด-19 ระลอกแรกตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงสินเชื่อฟื้นฟูล่าสุด ที่ส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ดังนั้นจากการหารือระหว่างรมว.ท่องเที่ยวและรมว.คลัง จึงมองว่าจะกันเงินจำนวนนี้ให้ธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน และเอสเอ็มอีแบงก์เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว เน้นไปที่ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก

โชติ ตราชู

 

เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่สะท้อนมายังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คือการเข้าถึงซอฟต์โลนได้น้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ต้องการวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 แสนสำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 5 แสนบาทสำหรับนิติบุคคล ขณะที่เราเองก็ได้หารือกับธนาคารออมสิน และเอสเอ็มอีแบงก์ ก็พบว่าทั้ง 2 ธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ๆอยู่หลายผลิตภัณฑ์ และขณะนี้ได้ผ่อนคลายเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อลงไปแล้วในหลายเรื่อง เช่นการไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้บุคคลหรือนิติบุคคลค้ำก็ได้ ซึ่งแบงก์ก็อยากช่วยผู้ประกอบการอยู่แล้ว

 

จับคู่กู้เงิน กู้เศรษฐกิจ

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบในระยะแรก กระทรวงท่องเที่ยวฯ จึงได้ร่วมกับ 2 ธนาคารดังกล่าวจัดโครงการท่องเที่ยวจับคู่ กู้เศรษฐกิจ “Restart Tourism” ในวันที่ 8-9 ก.ย.นี้ แมทชิ่งให้ผู้ประกอบการ ได้พบกับผู้แทนจากธนาคารออมสิน และธนาคาร SME D Bank เพื่อให้คำปรึกษาด้านการเงินแบบใกล้ชิด เพื่อช่วยเติมทุนสู้ภัยโควิด-19 โดยจะจับคู่ผู้ประกอบการได้ราว 186 คู่ การจับคู่กู้เงินไม่ได้จำกัดไว้ที่แค่ 5 สมาคมเท่านั้น แต่จะเปิดให้สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ใน 12 สาขาครอบคลุมการท่องเที่ยว

ท่องเที่ยวจับคู่กู้เงิน กู้เศรษฐกิจ

อาทิ สาขาวิชาชีพมัคคุเทศก์ ,สาขาที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยว ,สาขารับขนส่งนักท่องเที่ยวทางบก ,สาขารับขนส่งนักท่องเที่ยวทางน้ำ ,สาขารับขนส่งนักท่องเที่ยวทางอากาศ, สาขาธุรกิจนำเที่ยวเข้าในประเทศ(อินบาวด์),สาขาธุรกิจนำเที่ยวไปต่างประเทศ (เอ้าท์บาวด์), สาขานำเที่ยวภายในประเทศ(โดเมสติก) ,สาขาส่งเสริมการประชุม จัดนิทรรศการ และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ,สาขาผู้ประกอบธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักท่องเที่ยว, สาขานันทนาการหากสนใจเข้ามาลงทะเบียนได้ ซึ่งทั้ง 5 สมาคมก็เป็นสมาชิกของสทท.อยู่แล้ว

 

สำหรับสินเชื่อธนาคารในโครงการท่องเที่ยวจับคู่ กู้เศรษฐกิจ ที่จะนำมาเจรจาจับคู่กู้เงิน จะมี 7 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อจาก 2 ธนาคาร  ได้แก่

 

โครงการสินเชื่อจากธนาคาร SME D BANK จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ คือ

 

  • สินเชื่อ “โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย” (สินเชื่อสสว.1%) ที่มีการขยายกลุ่มเป้าหมายธุรกิจท่องเที่ยวให้ครอบคลุมขึ้นจากเดิมที่ไม่รวมบริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก
  • สินเชื่อรายเล็ก EXTRA CASH
  • สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
  • สินเชื่อฟื้นฟู

 

ส่วนธนาคารออมสินมี 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่

 

  • สินเชื่อซอฟต์โลน ธปท.กรอบวงเงินรวม2.5แสนล้านบาท
  • สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ธุรกิจท่องเที่ยว
  • สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออมสินช่วยเหลือ SMEs ในภาคการท่องเที่ยวหลังเกิดการจับคู่กู้เงิน

 

อัดซอฟต์โลน 8 พันล้านรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว นำร่องจับคู่กู้เงิน ก.ย.นี้ อัดซอฟต์โลน 8 พันล้านรีสตาร์ทธุรกิจท่องเที่ยว นำร่องจับคู่กู้เงิน ก.ย.นี้

 

ทั้งนี้หากยังเกิดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินอีก ผมก็ต้องหารือกับปลัดกระทรวงการคลังอีกครั้งว่าจะมีการออกโปรดักต์สินเชื่อที่จะผ่อนปรนได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ นายโชติ กล่าวทิ้งท้าย

 

ขณะที่นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า)กล่าวว่า ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ทั้ง 5 สมาคมจะหารือกับรมว.พิพัฒน์ ในรายละเอียดเงื่อนไขซอฟท์โลน ตามที่กระทรวงการคลัง จะกันเงินไว้ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว8พันล้านบาท ซึ่งสมาชิกบริษัทนำเที่ยว รถเช่า จะมีความต้องการสินเชื่อมากกว่าธุรกิจโรงแรมที่ถ้าเป็นรายใหญ่ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ

 

ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่3,709 วันที่ 29 สิงหาคม-1กันยายน 2564