โรงแรมพื้นที่สีแดงเข้ม ดิ้นแห่ผุด ฮอสพิเทล รับยอดติดเชื้อพุ่ง-พยุงจ้างงาน

18 ส.ค. 2564 | 11:27 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 05:06 น.
642

โรงแรมพื้นที่สีแดงเข้มดิ้นหนีตายปรับตัวเป็นฮอสพิเทล รับยอดติดเชื้อในประเทศเพิ่ม ดันความต้องการใช้เตียงพุ่ง ย้ำไม่กำไรมากมาย แต่ประคองธุรกิจพยุงการจ้างงานต่อได้ ขณะที่สมาคมโรงแรมไทย เผยธุรกิจส่วนใหญ่เหลือสภาพคล่องไม่เกิน 3 เดือน จี้ 3 มาตรการร้องรัฐแก้ปัญหาด่วน

จากจำนวนการติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลมีความต้องการเตียงมีมากขึ้น ประกอบกับธุรกิจโรงแรม มีความต้องการสภาพคล่อง ทำให้หลายโรงแรมปรับตัวมาทำเป็น ฮอสพิเทล (Hospitel หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการรองรับผู้ป่วยในพื้นที่สีแดงเข้ม

                                 

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เดอะทวิน ทาวเวอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันโรงแรมเปิดให้บริการแบบฮอสพิเทล รวม 800 เตียง โดยร่วมมือกับ 3 โรงพยาบาล ได้แก่ ร.พ.ศิครินทร์, ร.พ.ธนบุรี บำรุงเมือง และร.พ.ตำรวจ คิดจำนวนห้องพักที่ใช้แต่ละวันอยู่ที่ราว 500 กว่าห้อง

 

ช่วงแรกเตียงมีการใช้ไม่มาก แต่เมื่อมียอดการแพร่ระบาดเพิ่มสูงมากการใช้เตียงก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนบางวันก็เต็มหมด

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ

 

ตอนแรกที่ทำฮอสพิเทล เพราะคนรู้จักให้ช่วยเพราะโรงพยาบาลไม่มีเตียง เราก็อยากช่วยชาติ เพื่อให้เตียงในโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ผู้ป่วยสีเขียวก็มาอยู่ที่ฮอสพิเทล

 

การทำฮอสพิเทล ก็ไม่ได้ทำกำไรได้มากมาย เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งแต่ละโรงแรมมีรายได้ไม่เท่ากัน เฉลี่ยจะมีรายได้เข้ามาราว 1,000 บาทต่อเตียงต่อวัน แต่โรงแรมก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ อาหาร 3 มื้อ ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะติดเชื้อ

 

ดังนั้น เอาแค่ว่าไม่ขาดทุนพอประคองตัวอยู่ได้ และดูแลให้พนักงานที่อยู่กับเรามีงานทำต่อ พยุงการจ้างจ้างไว้ได้ เพราะไม่ว่าจะเปิดหรือปิดโรงแรมชั่วคราว ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆอยู่ดี เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มา การประชุม-สัมมนาก็จัดไม่ได้

 

การมีรายได้จากฮอสพิเทลเข้ามาก็ดีกว่ากระแสเงินสดเป็นศูนย์ หลายโรงแรมโดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มปรับมาธุรกิจมาทำฮอสพิเทลเพิ่มขึ้น ซึ่งการทำฮอสพิทิเทล ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาดกลาง เพราะต้องมีทุนในการปรับระบบต่างๆ ทั้งการบำบัดน้ำเสีย และมาตรการต่างๆที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

                                                                                

เทียบตอนนี้ทำฮอสพิเทลก็ดีกว่าการนำโรงแรมเข้าเป็นสถานกักตัวทางเลือกหรือ ASQ เนื่องจากแม้ ASQ จะขายได้ในราคาที่สูงกว่า แต่ปัญหาคือจำนวนการเดินทางจากต่างประเทศเข้าไทยมีไม่มาก และมีหลายโรงแรมมากที่ทำ ASQ ถ้าขายห้องได้น้อยก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ต้องอาศัยการโปรโมทเพื่อดึงลูกค้า

 

ขณะที่ฮอสพิเทล เป็นความจำเป็นในการต้องการเตียงที่เพิ่มขึ้น โรงแรมจะมีรูมไนท์ที่ดีกว่า แต่ทั้งฮอสพิเทลและ ASQ ก็เป็นการปรับตัวเพื่อประคองธุรกิจในช่วงนี้ของโรงแรมหลายแห่งในขณะนี้ นางศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

โรงแรมพื้นที่สีแดงเข้ม ดิ้นแห่ผุด ฮอสพิเทล รับยอดติดเชื้อพุ่ง-พยุงจ้างงาน

 

สำหรับจำนวนฮอสพิเทลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ที่ 14,343 เตียง ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมามีการเพิ่มเตียงในฮอสพิเทลเฉพาะในกรุงเทพฯรวมกว่า 4,424 เตียง และมีแนวโน้มการหาโรงแรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

อาทิ ฮอสพิเทลในเครือร.พ.เกษมราษฎร์ เช่น โรงแรมทู ทรี 250 เตียง โรงแรมเดอะกรีนโฮเทล 1 พันเตียง โรงแรมเอสดี เอเวนิว 900 เตียง โรงแรม ไอบิส สไตล์ สุขุมวิท 500 เตียงฮอสพิเทล ในเครือร.พ.ธนบุรี บำรุงเมือง เช่นโรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ 250 เตียง

โรงแรมแกรนด์ ฮาวเวิร์ด 380 เตียงโรงแรมสยาม แอท สยาม 300 เตียง โรงแรมพลูแมน กรุงเทพ แกรนด์ สุขุมวิท 

 

ฮอสพิเทลในเครือร.พ.ปิยะเวท อาทิ โรงแรมเดอะบาร์ซ่า รัชดา 300 เตียงฮอสพิเทลของสถาบันมะเร็ง อาทิ โรงแรมใบหยก 400 เตียง โรงแรม  เป็นต้น

                                  

นายสนธยา คุณปลื้ม  นายกเมืองพัทยา กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น เมืองพัทยาไม่ได้ทำ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อหรือ(Community Isolation : CI ) เพราะมีโรงพยาบาลในเมืองพัทยาที่ต้องดูแลคนในพื้นที่มีสิทธิ์ประกันสังคม บัตรทอง ประกันราว 5 หมื่นคน ที่เหลือใช้สิทธิ์โรงพยาบาลแต่ละแห่ง

 

ณ วันนี้พัทยามีฮอสพิเทลอยู่ 800 เตียงในการรองรับผู้ป่วยสีเขียว ขณะนี้มีการใช้งานอยู่ 600 กว่าเตียง และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 800 เตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในเมืองพัทยา ซึ่งเราต้องแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนนำมารักษาและเพิ่มเตียงในฮอสพิเทลให้เพิ่มขึ้น

 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจโรงแรมเดือนก.ค.64 พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ต่อเนื่อง

โรงแรมพื้นที่สีแดงเข้ม ดิ้นแห่ผุด ฮอสพิเทล รับยอดติดเชื้อพุ่ง-พยุงจ้างงาน

 

ขณะที่อัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้เกือบ60%ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อน และเพียงพอในการดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่10% ทรงตัวจากเดือนก่อน

 

โดยกลุ่มที่เป็น ASQ มีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนเฉลี่ยที่24% และมีการฟื้นตัวของรายได้สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นASQ  ส่วนโรงแรมที่เป็นฮอสพิเทล มีการฟื้นตัวของรายได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆสำหรับฮอสพิเทลในกรุงเทพฯ โดยมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่40%

 

อย่างไรก็ตาม สมาคมโรงแรมไทย ก็อยากให้รัฐเร่งการจัดหาและกระจายวัคซีนให้เร็วกว่าแผน การพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย และสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิม เพราะโดยภาพรวมธุรกิจโรงแรมไม่ดีนัก มีเพียงโรงแรมในภูเก็ตเท่านั้นที่มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่นๆอยู่บ้าง

ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่3,705 วันที่ 15-18 สิงหาคม พ.ศ.2564