"ดุสิตธานี"ขาย“โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่”ทำกำไร-รับบริหารต่ออีก15ปี

12 ส.ค. 2564 | 14:56 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2564 | 22:25 น.
1.6 k

ดุสิตธานี ฝ่าวิกฤติโควิดเผยไตรมาส2 ขาดทุนสุทธิ376 ล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน วางแผนรับมือผลกระทบระยะยาว เร่งปรับโครงสร้างทรัพย์สิน-ควบคุมต้นทุน-ปรับพอร์ตสินทรัพย์ทำกำไร ล่าสุดขายโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่-รับบริหารต่ออีก15ปี ภายใต้แบรนด์ดุสิตธานี

กลุ่มดุสิตธานี เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2564  รายได้รวม 587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 163 ล้านบาท คิดเป็น 38.4% โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 376 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็น 17% 

 

ขณะที่รายได้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,898 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีก่อน 15.3% ยอมรับการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ “ดุสิตธานี” ยังสู้ พร้อมเดินกลยุทธ์ปรับโครงสร้างทรัพย์สิน เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินสด รวมถึงคุมเข้มค่าใช้จ่าย เพื่อรับมือผลกระทบระยะยาว

 

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 (เมษายนถึงมิถุนายน) และครึ่งปีแรก (มกราคมถึงมิถุนายน) ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีผลขาดทุนลดลง

 

เนื่องจากในระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยต้องปิดให้บริการชั่วคราวทั้งโรงแรมในประเทศไทยและในต่างประเทศ แตกต่างจากปีนี้ซึ่งโรงแรมสามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้รายได้ไม่ได้หยุดชะงักเหมือนกับการแพร่ระบาดในระลอกแรกเมื่อปีก่อน

 

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

 

“ธุรกิจการท่องเที่ยวทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในส่วนของประเทศไทย ต้องยอมรับว่า การระบาดครั้งใหญ่ในระลอกที่ 3 ที่เริ่มต้นขึ้นเดือนเมษายน 2564 หรือต้นไตรมาสที่ 2  ส่งผลให้มีอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระจายไปทั่วประเทศ

 

ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจของเรา  แต่ภาพรวมดีขึ้นกว่าปีก่อน เพราะเรายังมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศและรายได้จากการขยายธุรกิจอาหารให้กับโรงเรียนนานาชาติในเวียดนามมาช่วยเสริม

นอกจากนี้ เรายังมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม และยังคงควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวดและพยายามลดค่าใช้จ่ายต่างๆ  ทำให้แม้จะมีผลดำเนินงานที่ขาดทุน แต่ก็เป็นผลขาดทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานีกล่าว

 

ทั้งนี้แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กลุ่มดุสิตธานีก็ยังมีพัฒนาการและสามารถเดินหน้าขยายธุรกิจได้ตามแผนที่วางไว้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 กลุ่มดุสิตธานีได้เปิดโรงแรมใหม่ภายใต้รูปแบบ White Label Hotel Managed by Dusit ที่เกาะกวม ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนหนึ่งแห่ง 

 

รวมถึงเปิดตัว เทวารัณย์ เวลเนส คอนเซ็ปต์ ซึ่งเป็นแนวคิดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมใหม่ เพื่อตอบสนองเทรนด์ท่องเที่ยวใหม่ ตลอดจนปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ และเตรียมพร้อมโรงแรมและวิลล่าเพื่อเข้าโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส  ไปจนถึงการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้พนักงาน ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับลูกค้าและพนักงาน

โรงแรมดุสิตลากูนา ภูเก็ต

 

ส่วนธุรกิจอาหาร บริษัทฯ ได้เปิดร้านคาวาอิ เป็นแฟลกชิพ สโตร์ แห่งใหม่ในย่านอโศก ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยเป็นร้านสแตนด์ อะโลน แห่งแรก เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพ และสามารถสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

 

สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะในไตรมาส 3 (กรกฎาคมถึงกันยายน) ที่การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น และมีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์แบบเข้มข้นมากขึ้นในหลายๆ จังหวัดของประเทศไทย ทำให้คาดว่า จะส่งผลกระทบกับผลประกอบการมากขึ้นนั้น

 

ทางกลุ่มดุสิตธานีได้พยายามบริหารสถานการณ์และวางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบระยะยาวที่อาจจะยืดเยื้อกว่าที่คาด ด้วยการดำเนินการตามกลยุทธ์ปรับโครงสร้างทรัพย์สิน (Asset Optimization)

 

โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้บรรลุข้อตกลงในการขายโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ให้กับนักลงทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมดังกล่าวต่อไป ภายใต้แบรนด์ “ดุสิตธานี”  ซึ่งรายได้และกำไรจากการขายจะรับรู้ในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงบริหารจัดการด้านการเงินอย่างระมัดระวัง ด้วยการให้ความสำคัญกับการลดสัดส่วนของต้นทุน ค่าใช้จ่าย และรักษาสภาพคล่องทางการเงิน โดยล่าสุด ได้ออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่จำนวน 1,000 ล้านบาทให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นที่เรียบร้อย 

 

“สิ่งที่เราพยายามทำในขณะที่ธุรกิจหลักมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายมากขึ้น นอกจากจะขยายธุรกิจให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างรายได้และผลตอบแทนแล้ว

 

เรายังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ในการปรับโครงสร้างทรัพย์สิน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น รวมถึงช่วยเสริมสภาพคล่อง และรักษาความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาด

 

แต่กลุ่มดุสิตธานียังคงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะประคับประคองธุรกิจไว้ให้ได้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและพื้นฐานที่มั่นคงของทุกภาคส่วนของบริษัท ซึ่งเราจะอดทนรอจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อที่จะกลับมาเป็นส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมาสดใสได้อีกครั้งในอนาคต” นางศุภจีกล่าว

 

อย่างไรก็ตามดุสิตธานี ได้แจ้งต่อตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ระบุถึงแนวโน้มธุรกิจของบริษัทในครึ่งหลังของปี 2564 ยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้นในประเทศตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 ปี 2564 รัฐบาลประกาสมาตรการในการควบคุมมากขึ้นในหลายจังหวัด ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจโรงแรมในประเทศ

 

ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมของบริษัทในต่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีกว่าเนื่องจากกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ทางด้านธุรกิจการศึกษาและธุรกิจอาหารของบริษัทก็ได้รับผลกระทบเช่นกันเนื่องจากการปิดสถานศึกษาชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติมตามคำสั่งของภาครัฐ

 

บริษัทมีมุมมองว่าปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทในครึ่งหลังของปี 2564 โดยคาดว่าการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมของบริษัทไปสู่ระดับก่อนการเกิด COVID-19 จะใช้เวลายาวนานกว่าที่บริษัทได้เคยประเมินไว้

 

ทั้งนี้บริษัทได้วางแผนเพื่อรับมือกับผลกระทบระยะยาวโดยการปรับโครงสร้างองค์กรให้ตอบรับรูปแบบของธุรกิจในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานลดความซ้ำช้อนของงาน ตลอดจนลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในระยะยาว

บริษัทยังคงบริหารจัดการด้านการเงินอย่างระมัดระวังไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลดสัดส่วนของต้นทุนและค่าใช้จ่ายคงที่ และให้ความสำคัญต่อการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน ในต้นไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทได้เตรียมความพร้อมสำหรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันจำนวน 1,000 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนกันยายน 2564

\"ดุสิตธานี\"ขาย“โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่”ทำกำไร-รับบริหารต่ออีก15ปี

โดยบริษัทได้ดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่จำนวน 1,000 ล้านบาทเรียบร้อยแล้วในเดือนกรกฎาคม 2564

 

นอกจากนี้บริษัทได้ปรับพอร์ตทรัพย์สินเพื่อรับรู้กำไร ( Asset Optimization) ตามแผนที่วางไว้เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีและเสริมสภาพคล่องทางการเงินโดยในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564

 

บริษัทได้ทำสัญญาขายโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ให้กับนักลงทุน และได้ทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมภายใต้ชื่อเดิมต่อ 10 ปี พร้อมสิทธิในการขยายเวลาอีก 5 ปี รวมเป็น 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการและความแข็งแกร่งของแบรนด์ดุสิตธานี