พิษโควิด ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอฯ ดิ่งสุดในรอบ22 ปี8เดือน

08 ก.ค. 2564 | 15:44 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 23:06 น.

หอการค้าฯ เผยโควิด-19 ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่งสุดในรอบ 22 ปี 8 เดือน ชี้ประชาชนกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในรอบที่ 3 การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า

นายธนวรรธน์ พลวิชัย  อธิการบดีมหาวิยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผย ถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวลดลงมาที่ 43.1 จากระดับ 44.7 ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 272 เดือน หรือ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา

พิษโควิด ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอฯ  ดิ่งสุดในรอบ22 ปี8เดือน
เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในรอบที่ 3 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ "เราชนะ" และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม


 

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้”

 

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 37.3 , 40.0 และ 52.1 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่อยู่ในระดับ 38.9 , 41.3 และ 53.9 ตามลำดับ