"อีอีซี" ปรับแผนลงทุน 2.2 ล้านล.ใน 5 ปีดันไทยสู่ประเทศพัฒนาปี 72

04 ต.ค. 2564 | 17:43 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 00:42 น.
789

อีอีซีปรับแผนลงทุน 2.2 ล้านล.ใน 5 ปีสร้างมูลค่าลงทุน 4 แสนล้านต่อปี ผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2564 มีมติปรับแผนลงทุนอีอีซี 2.2 ล้านล้านบาทใน 5 ปี (ปี 2565-2569) เพื่อเสริมแกร่งเศรษฐกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในยุค New Normal โดยมีเป้าหมายการลงทุนให้ได้มากกว่าเป้าหมายเดิม จากแผนแรกของอีอีซี (2561-2565) กำหนดเงินลงทุนไว้ 1.7 ล้านล้านบาท ปัจจุบัน
เกิดเงินลงทุนแล้ว รวม 1,605,241 ล้านบาท หรือคิดเป็น 94% คาดว่าสิ้นปี 2564 จะได้ตามเป้าที่วางไว้ 
ทั้งนี้ แผนลงทุนอีอีซีระยะ 2 ขับเคลื่อนต่อยอดและเร่งรัดการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของประเทศ มีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1.ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงฯ (TOD)
2.ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 2.1การลงทุนในระดับฐานปกติ ปีละ 250,000 ล้านบาท และ 2.2การลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท

3.ยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด/ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน
"แผนอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซี เพิ่มขึ้น 500,000 ล้านบาท/ปี (จากเดิม 300,000 ล้านบาท/ปี) โดยถือเป็นกลไกหลักช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพ 4.5 – 5% ต่อปี และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 (covid-19) พร้อมส่งผลให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572"

ปรับแผนลงทุนอีอีซี 2.2 ล้านล้านบาทใน 5 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. พิจารณา ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 โดยผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 20 ฟุต) 
โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ได้มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับ เป็นไปตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน และมติ ครม. ที่ได้อนุมัติไว้ 

อย่างไรก็ดี ยังได้เจรจาผลตอบแทนเพิ่มเติม อาทิ เอกชนตกลงเพิ่มเงื่อนไขการสร้างท่าเรือ F2 ให้เร็วขึ้น หากแนวโน้มตู้สินค้าเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เอกชนจะสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหาย ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบการท่าเทียบเรือ เป็นต้น โดย กพอ.ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และจะนำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติ พร้อมลงนามสัญญาต่อไป โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ฯ จะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี รับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น เชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก (Dry port) เป็นศูนย์กลางการค้าบริการขนส่ง ยกระดับไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมภูมิภาคเอเชียไปสู่ระดับโลก
"โครงการดังกล่าวนี้นับเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ - เอกชน (PPP) ที่ประสบผลสำเร็จต่อจาก 3 โครงการหลัก ซึ่งได้เอกชนเดินหน้าก่อสร้างแล้ว โดยมูลค่าการลงทุนรวมทั้ง 4 โครงการสูงถึง 633,401 ล้านบาท เป็นการลงทุนภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (61%) และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (39%)"

กิจการพิเศษ 6 แห่ง
นายคณิศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กพอ. พิจารณา แผนการดำเนินงานด้านสิทธิประโยชน์ โดยขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากโครงการที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็น พื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทย ก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด 
และที่ประชุมได้มอบหมายให้ สกพอ. จัดทำ (ร่าง) ประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุม สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่ไม่ใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ (Demand Driven Customization) เป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (พ.ศ.2566 -2570) และแผนงานโครงการ ภายใต้แผนฯ ที่ สกพอ. จัดทำร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรอบแนวคิด เน้นตลาดนำการผลิต
(Demand Pull) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) สร้างโอกาสการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง จาก 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง
ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ อีอีซี เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซี เพิ่มขึ้น

4 โครงการโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี
รวมทั้ง ที่ประชุม กพอ. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ สกพอ. ศึกษาการจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ร่วมทุนกับเอกชน ท้องถิ่น เน้นสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับจากผลประกอบการ ด้วยแนวคิด การตลาดนำการผลิต วางระบบการค้าสมัยใหม่ E-commerce และ E-auction พัฒนาระบบห้องเย็น-โลจิสติกส์ทันสมัย ที่สกพอ.จะเร่งสร้างโรงงานห้องเย็นให้ทันช่วงหน้าทุเรียนปี 2565 และจัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยโครงการ EFC จะสร้างรายได้ 20-30% มูลค่าประมาณ 10,000-15,000 ล้าน/ปี คืนสู่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ระบบห้องเย็นช่วยคงคุณภาพผลผลิต ลดปัญหาขาดแคลนและล้นตลาด ขายได้ราคาเป็นธรรมไม่ถูกกดราคา ส่งออกได้มูลค่าสูง ได้รับเงินจากการขายทันที ให้เกษตรกรไทยมีรายได้ดีมั่นคงอย่างสมดุล
นายคณิศ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชุม กพอ. พิจารณาเห็นชอบให้ สกพอ. ร่วมกับ เมืองพัทยา ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ (Old Town นาเกลือ) เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนควบคู่ไปกับการเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำในพื้นที่อีอีซี พร้อมเป็นโครงการนำร่อง แผนพัฒนาเมืองพัทยาตามแนวทาง NEO PATTYA ที่มีแนวคิด ให้พัทยาก้าวสู่ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวของอีอีซี โดยขับเคลื่อนให้ตลาดลานโพธิ์นาเกลือ เป็นต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งมี 13 โครงการย่อยที่จะดำเนินการที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ปรับปรุงตลาดขายอาหารทะเลสด ก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ จุดชมทัศนียภาพปากคลองนาเกลือ ก่อสร้างเส้นทางธรรมชาติป่าโกงกางคลองนกยาง และก่อสร้างตลาดใหม่ลานโพธิ์นาเกลือ เป็นต้น ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน/ปี และเกิดรายได้ให้คนในพื้นที่กว่า 1,000 ล้านบาท/ปี
ที่ประชุม กพอ. พิจารณาเห็นชอบให้โครงการการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ให้มีศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก (M1) และมีมาตรฐานโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม เป็นหนึ่งในโครงการ EEC Project List โดยให้ สกพอ. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เร่งศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และให้เป็นโครงการ Sandbox ยกระดับการบริการสาธารณสุข โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนต่อไป โครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จะรองรับผู้ประกันตนประมาณไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ในอำเภอปลวกแดง ให้ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทันการ สะดวก ปลอดภัยและมีคุณภาพ  ลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่ ทำให้สถานประกอบการในพื้นที่มีความมั่นใจว่าพนักงานได้รับบริการอย่างทันท่วงทีจากโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานในพื้นที่