เตือน ระวัง "ข้าวหอมมะลิ" ล้นประเทศ กระทบชาวนา

02 ต.ค. 2564 | 11:46 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2564 | 20:26 น.
4.6 k

สมาคมส่งออกข้าวไทย ห่วง “ข้าวหอมมะลิ” ล้นประเทศ จากปัญหาค่าขนส่ง ค่าระวางเรือปรับตัวสูงลิ่ว กระทบตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป เมินซื้อข้าว

 

สมาคมส่งออกข้าวไทย รายงานข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือนแรกของปี (มกราคม-สิงหาคม 2564) มีปริมาณ 3,178,887 ตัน มูลค่า 58,684 ล้านบาท ( 1,906.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ) โดยปริมาณส่งออกลดลง 14.0% และมูลค่าลดลง 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 3,696,754 ตัน มูลค่า 77,508 ล้านบาท ( 2,478.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ )

 

  การส่งออกข้าว 8 เดือนแรก ปี 2564

 

การส่งออกข้าวในเดือนสิงหาคม 2564 มีปริมาณ 591,717 ตัน มูลค่า 9,771 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 41% และ 30.9% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 419,578 ตัน มูลค่า 7,466 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงนี้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญโดยเฉพาะอินเดีย เวียดนาม และปากีสถานได้ ส่งผลให้การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน

ราคาข้าวสารส่งออก

 

โดยในเดือนสิงหาคม 2564 มีการส่งออกข้าวขาวปริมาณ 274,377 ตัน เพิ่มขึ้น 101% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศจีน แองโกล่า ฟิลิปปินส์ แคเมอรูน มาเลเซีย โมซัมบิก ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งมีปริมาณ 161,925 ตัน ลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแอฟริกาใต้ เบนิน ไนเจอร์ เยเมน เป็นต้น ในส่วนของข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 78,823 ตัน เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ แคนาดา เป็นต้น

 

ส่งออกข้าวไทย แยกตามรายชนิด

สมาคมส่งออกข้าวไทย คาดว่าในเดือนกันยายน 2564 ปริมาณส่งออกข้าวจะมีมากกว่า 700,000 ตัน เนื่องจากตลาดต่างประเทศ ทั้งแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย มีความต้องการข้าวขาวและข้าวนึ่งอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ ประกอบกับราคาข้าวของไทยยังคงอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้การส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของข้าวหอมมะลินั้น แม้ว่าราคาข้าวจะปรับลดลงมามากแล้ว แต่การส่งออกยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ไปจนถึงไตรมาสที่ 4 จะมีการส่งออกข้าวหอมมะลิ ปริมาณมากเนื่องจากยังคงมีปัญหาด้านลอจิสติกส์และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะเส้นทางเดินเรือไปยังตลาดสำคัญในแถบอเมริกาและยุโรป                                                                                                                                                                                               

เปรียบเทียบคู่แข่ง

 

                                                                                                                                      

 

 

สถานการณ์ราคาข้าวในช่วงนี้ได้รับอานิสงค์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 396 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 428-432, 368-372 และ 368-372 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนข้าวนึ่งของไทยราคาอยู่ที่ 399 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวนึ่ง ของอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 353-357 และ 373-371 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ