“สถาบันคลังสมอง” ฟันธงส่งออกข้าวต่ำสุดรอบ 34 ปี

09 ก.ย. 2564 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2564 | 07:06 น.

สถาบันคลังสมองฯฟันธงส่งออกข้าวไทยปี 64 อยู่ระดับ 4.7-5 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 34 ปี ชี้ปัจจัยลบรุมกระหน่ำเพียบ ด้านโรงสีชี้ยังมีลุ้นเป้า 6 ล้านตัน หาก 5 เดือนสุดท้ายตีตื้นทำได้ไม่ต่ำ 7 แสนตันต่อเดือน นบข. จับตาโครงการคู่ขนานประกันรายได้ข้าว สกัดราคาข้าวร่วงเอาอยู่หรือไม่

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานจากข้อมูลของกรมศุลกากรการส่งออกข้าวไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-ก.ค.) มีปริมาณ 2.5 ล้านตัน มูลค่า 48,973 ล้านบาท (1,608.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และคาดว่าในเดือนสิงหาคม จะส่งออกได้มากกว่า 6 แสนตัน เนื่องจากราคาข้าวของไทยปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนักทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น

 

ขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดต่างประเทศ ทั้งที่แอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชียยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังคงมีปัญหาด้านโลจิสติกส์อยู่บ้างในบางเส้นทางเดินเรือ เช่น อเมริกา และยุโรป ที่ค่าระวางเรือยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งในเดือนที่เหลือของปีนี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ในปีนี้ประเทศไทยจะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 6 ล้านตัน

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ได้มีการคำนวณจากข้อมูลกรมศุลกากร คาดทั้งปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่เกิน 4.5-5 ล้านตัน เนื่องจากค่าเงินบาทยังมีความผันผวน ค่าระวางเรือยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งออก เป็นต้น

 

หากการส่งออกข้าวเป็นไปตามที่คาด และตรงกับรายงานจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ที่ระบุในปี ค.ศ.1987 หรือปี 2530 ที่ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 4.7 ล้านตัน ปีนี้จะเป็นปีที่ไทยส่งออกข้าวได้ต่ำสุดในรอบ 34 ปี

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าววว่า สถานการณ์ตลาดข้าวในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย  ประกอบด้วย “อินโดนีเซีย” จะไม่มีการนำเข้าข้าวเพิ่มจนถึงสิ้นปี เนื่องจากมีปริมาณสต๊อกข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศแล้ว  “ฟิลิปปินส์” ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวเป็นการชั่วคราว 1 ปี โดยภาษีในโควตาปรับลดจาก 40% เป็น 35% และภาษีนอกโควตาปรับลดจาก 50% เป็น 35% เพื่อขยายแหล่งนำเข้าเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเทศสมาชิกอาเซียน

 

“เวียดนาม” ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหราชอาณาจักร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564  ทำให้สามารถส่งออกข้าวในอัตราภาษี 0% ปริมาณ 14,000 ตัน “กัมพูชา” คู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดจีน วางแผนเจรจาขอให้จีนเพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวจากปัจจุบันที่ 4 แสนตัน เป็น 5 แสนตัน

 

โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2564/65

 

"สหราชอาณาจักร” ความตกลง FTA ระหว่างสหราชอาณาจักรกับออสเตรเลีย ระบุว่า ออสเตรเลีย สามารถส่งออกข้าวไปสหราชอาณาจักรได้โดยไม่มีภาษีนำเข้าสำหรับโควตาข้าวสารเมล็ดยาวปริมาณ 1,000 ตัน และจะลดภาษีนำเข้าข้าวสารเมล็ดสั้นและเมล็ดกลางลง

ขณะที่ “มาเลเซีย”  มีแนวโน้มนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากราคาข้าวไทยลดลงมาอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อได้ โดยปริมาณคำสั่งซื้อข้าวจากไทยเริ่มเพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 เดือน ที่ผ่านมา

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า หากไทยสามารถส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่ระดับ 7-8 แสนตันต่อเดือน ก็มีโอกาสที่จะแตะเป้า   ทะลุ 6 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวไทยปรับตัวลดลง เงินบาทอ่อนค่าทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น ส่งผลทำให้ข้าวกลุ่มข้าวขาว 5% ส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยลบคือค่าระวางเรือยังสูงมาก

 

“คงต้องลุ้นการส่งออกช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากคิดขั้นต่ำส่งออกได้เดือนละ 7 แสนตัน  จะได้ 3.5 ล้านตัน จาก 7 เดือนแรกที่มีตุนไว้แล้ว 2.5 ล้านตัน แม้ว่าเดือนธันวาคม จะติดคริสต์มาส หรือมีวันหยุดมาก ซึ่งผมเอาใจช่วย และขอให้ทะลุ 6 ล้านตัน ขณะที่ราคาข้าวในประเทศเริ่มปรับขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก”

สุเทพ คงมาก

 

นายสุเทพ คงมาก นายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) กล่าวถึง ผลการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2563/64 หรือจำนำยุ้งฉาง เหลือข้าวในสต๊อกอยู่ประมาณกว่า 2.7 แสนตัน (กราฟิกประกอบ) ถือว่าไม่มาก ซึ่งขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ขยายโครงการไปสิ้นสุด 30 ก.ย.64

 

“ถ้าใครอยากปล่อยข้าว ให้ ธ.ก.ส. ก็สามารถทำได้ ธ.ก.ส.พร้อมรับข้าวทันที ไม่มีปัญหาเนื่องจาก ธ.ก.ส.มีช่องทางระบาย จะไปประมูลขายล็อตเล็ก ๆ หรือจะไปผลิตข้าวบรรจุถุงจำหน่ายในร้านค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศก็ทำได้อยู่แล้ว อีกทั้งการจำนำแค่ 80% หากออกมาขายในช่วงนี้ก็มีกำไร เพราะราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ในอนาคตควรจะเพิ่มปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพื่อดึงข้าวออกจากระบบ จะทำให้ราคาข้าวไม่ตกต่ำ”

 

แหล่งข่าว นบข. กล่าวว่า หากขยายเป้าปริมาณข้าวที่เข้าร่วมโครงการ อยากให้มีการประเมินว่าดำเนินโครงการแล้วส่งผลให้ระดับราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นเท่าไรและการใช้จ่ายงบประมาณโครงการประกันรายได้ลดลงหรือไม่ เพื่อให้รู้ว่าโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนั้นมีประโยชน์จริง

 

“ต้องจับตามาตรการคู่ขนานประกันรายได้ข้าว จะแผลงฤทธิ์พยุงราคาข้าวสำเร็จหรือไม่ ไม่เช่นนั้นอาจต้องจ่ายชดเชยเต็มเพดาน 8.9 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้วจ่ายให้ชาวนา 4.68 ล้านครัวเรือน 49,509.81 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,712 วันที่ 9 - 11 กันยายน พ.ศ. 2564