ส่อง 5 เรื่องใหญ่ กกร.เตรียมนำเสนอ “บิ๊กตู่” แก้โควิด-ฟื้นศก.รับเปิดประเทศ

18 ส.ค. 2564 | 14:29 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 21:43 น.

เปิด 5 ประเด็นหลัก กกร.เตรียมจับเข่าคุยนายกฯ เร่งแก้ปัญหาโควิด-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ จี้เร่งจัดสรรวัคซีนเป็นธรรม-รวดเร็ว ลดหย่อนภาษี 2 เท่า เอกชนควักจ่ายค่าวัคซีน-ATK ขยายเวลาลดภาษีที่ดินฯ 90% ออกไปอีก 1 ปี หนุนค่าที่พักกลุ่มสีเขียว ดัน Super App รับเตรียมเปิดประเทศ

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เตรียมข้อเสนอต่อพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใน 5 ด้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในเวลานี้ รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

เบื้องต้นสำหรับประเด็นที่ภาคเอกชนโดย กกร. จะมีการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด – 19 และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยในส่วนของหอการค้าไทย ก็มีประเด็นนำเสนอหลัก 5 ด้าน คือ

1. การจัดหาและจัดสรรวัคซีน

2. ยาและอุปกรณ์การแพทย์

3. การตรวจเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit

4. สถานที่กักตัวและคัดแยกผู้ป่วย

5. การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

 

1. การจัดหาและจัดสรรวัคซีน

  • จัดสรรวัคซีนให้มีจำนวนที่เหมาะสม ชัดเจน ทั่วถึง เป็นธรรมและรวดเร็ว
  • อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น ใช้เกณฑ์ที่ยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ประเภทนั้นได้รับการรับรองจาก WHO
  • จัดหน่วย Mobile Units การฉีดวัคซีนที่เคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจการผลิต
  • เตรียมแผนการจัดหาวัคซีนสำหรับปีหน้า ทั้งสำหรับเด็ก และแผนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วย

 

2. ยาและอุปกรณ์การแพทย์

  • สำหรับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับยาและอุปกรณ์การแพทย์ ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้เอกชนสามารถดำเนินการผลิต รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้ในประเทศ

 

3. การตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test Kit

  • ในช่วงที่ทุกฝ่ายรอการจัดสรรวัคซีนนั้น ภาครัฐบาลต้องเร่งแยกผู้ป่วยออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อให้การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด โดยขอให้รัฐบาลควบคุมดูแลราคาของ Rapid Antigen Test Kit ให้อยู่ในระดับเหมาะสม ประชาชนทั่วไปหาซื้อได้ง่ายเพื่อเพิ่มความถี่ในการตรวจด้วยตนเองมากขึ้น และเสนอให้มีการมือจัด Mobile Rapid Test Units เป็นหน่วยตรวจเชื้อเชิงรุกไปยังพื้นที่เสี่ยงในจัดต่าง ๆ  ก็จะช่วยให้การตรวจเชิงรุกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว (รู้เร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว)
  • การที่มีมาตรการออกมาทั้ง FAI และ Company Isolation นั้นเป็นมาตรการที่ดีแต่ต้องมีการกำหนดราคาและช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึง ชุดตรวจให้เหมาะสมด้วย

 

4. สถานที่กักตัวและคัดแยกผู้ป่วย

  • เมื่อมีการตรวจเชิงรุกแล้ว การจัดเตรียมสถานที่เพื่อดูแลผู้ป่วยต่อก็มีส่วนที่สำคัญ เอกชนจึงเสนอให้ปรับลดเกณฑ์ Hospitel และเพิ่ม Hotel Isolation สำหรับรองรับกลุ่มสีเขียว ก็จะช่วยลดการใช้เตียงในโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลได้ และขอให้รัฐสนับสนุนเอกชนทำ Company Isolation หรือให้ใช้โรงแรม เป็น Hotel isolation โดยรัฐบาลช่วยสนับสนุนการจ่ายค่าที่พักให้ มี Tax Incentive ในการลงทุนดูแลผู้ติดเชื้อของโรงแรม

 

นอกจากนี้ ควรสร้างมาตรการและหลักเกณฑ์ของ Factory Isolation / active screening/ Bubble and Seal  ของแต่ละจังหวัดให้ชัดเจน โดยภาคเอกชนในพื้นพร้อมให้ความเห็นและมีส่วนร่วมในการดำเนินการ รวมถึงรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มโรงพยาบาลสนามให้มีปริมาณเพียงพอ ซึ่งอาจใช้ ค่ายทหาร สนามกีฬา อาคาร ยิม ที่ราชพัสดุต่างๆ โดยเอกชนพร้อมร่วมมือในการจัดตั้ง

 

5. การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

  • อย่างที่ภาคเอกชนได้สะท้อนให้รัฐบาลทราบมาโดยตลอดว่า การควบคุมการแพร่ระบาดจำเป็นต้องควบคู่กับการเดินหน้าของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งในครั้งนี้ ภาคเอกชนในนาม กกร. ก็มีข้อเสนอเพื่อให้ประคับประคองเศรษฐกิจไทยไปให้ได้ในช่วงนี้ โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้
  • ค่าใช้จ่ายเอกชนในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และ ค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถลดหย่อนภาษี 2 เท่า
  • ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการโดยขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี (1 ม.ค. - 31 ธ.ค.2565)
  • กระตุ้นเศรษฐกิจ โดย ขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือ 0.01% จดจำนอง 1% เหลือ 0.01% รวมถึงเพิ่มให้ครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านบาท
  • ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนา Digital Platform โดยร่วมมือกับภาคเอกชน โดยภาคเอกชนมีข้อเสนอที่จะจัดทำ Super App สำหรับการทะยอยผ่อนคลายในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงเปิดประเทศและสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ และเชื่อมโยงมาตรฐานต่าง ๆ ให้ได้ระดับนานาชาติ

 

ทั้งนี้ ภาคเอกชนมองว่าการเพิ่มมาตรการควบคุมโรค จำเป็นต้องควบคู่กับการเดินหน้าของเศรษฐกิจด้วย เพราะที่ผ่านมาทั้งผู้ประกอบการและประชาชนได้รับผลกระทบยาวนานและต่อเนื่อง จึงเสนอให้มีการผ่อนปรนให้บางกิจการสามารถดำเนินธุรกิจไปได้