​“ไทย”แสดงจุดยืนใน “WTO” ย้ำห้ามอุดหนุนประมงผิดกม.เร่งแก้ IUU Fishing

16 ก.ค. 2564 | 14:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 21:44 น.

ไทยร่วมถกเวทีรัฐมนตรี WTO แสดงจุดยืน ห้ามอุดหนุนประมงผิดกฎหมาย เร่งกำจัดปัญหา IUU Fishing ชี้ไทยปฏิรูปกฎหมายด้านการประมงจนได้รับความเชื่อมั่นและได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปแล้ว พร้อมให้อุดหนุนเพื่อพัฒนา และยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อพัฒนาภาคประมง

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระดับรัฐมนตรี เรื่องการอุดหนุนประมง ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อหารือแนวทางสร้างแรงขับเคลื่อนการเจรจาที่ยืดเยื้อมากว่า 20 ปี ให้สรุปผลได้โดยเร็ว ก่อนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC 12) ที่จะจัดขึ้นปลายปีนีว่า ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นผลักดันให้การเจรจาอุดหนุนประมงบนพื้นฐานที่ไทยสนับสนุน ได้แก่ 1. ห้ามให้การอุดหนุนแก่การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) เพื่อให้ประเทศสมาชิกของ WTO ร่วมกันกำจัดปัญหา IUU Fishing ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มีการลักลอบจับสัตว์น้ำจนร่อยหรอในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยในส่วนของไทยไม่มีปัญหาในเรื่อง IUU Fishing แล้ว

​“ไทย”แสดงจุดยืนใน “WTO” ย้ำห้ามอุดหนุนประมงผิดกม.เร่งแก้ IUU Fishing

เนื่องจากมีการปฏิรูปกฎหมายด้านการประมงจนได้รับความเชื่อมั่นและได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปแล้ว นอกจากนี้ การห้ามอุดหนุนประมงที่ทำ IUU Fishing จะผลักดันให้ประเทศสมาชิกอื่นที่มีการทำประมง IUU Fishing แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

 2. ให้ประเทศสมาชิกสามารถให้การอุดหนุนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาภาคประมงต่อไปได้ หากประเทศสมาชิกนั้นมีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดี ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เนื่องจากไทยมีการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ดีและมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อาทิ การจำกัดจำนวนชั่วโมง จำนวนวัน และจำนวนเรือที่ออกทำการประมง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำที่มากเกินควร และ 3. ให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (SDT) แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ความตกลงมีความยืดหยุ่นกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไทยจะยังสามารถให้การอุดหนุนเพื่อดำรงชีพประมงพื้นบ้านได้

​“ไทย”แสดงจุดยืนใน “WTO” ย้ำห้ามอุดหนุนประมงผิดกม.เร่งแก้ IUU Fishing

ทั้งนี้ การเจรจาจัดทำความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงได้เริ่มขึ้นในปี 2544 โดยเป็นหัวข้อหนึ่งในการเจรจาการค้ารอบโดฮา (Doha Development Agenda) ซึ่งประเทศสมาชิกได้เจรจามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากประเทศสมาชิกมีท่าทีที่หลากหลายจากระดับการพัฒนาของประเทศและภาคการประมงที่แตกต่างกัน ต่อมาในปี 2558 WTO ได้นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ข้อที่ 14.6 ซึ่งมีสาระสำคัญในการห้ามอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ มาเป็นเป้าหมายในการเจรจาจนทำให้สมาชิกกลับมาเร่งเจรจา เพื่อให้การเจรจาความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงได้ข้อสรุป

 

 

ประเทศสมาชิก WTO ที่ให้การอุดหนุนภาคประมงในวงเงินที่สูง ได้แก่ (1) สหภาพยุโรป อุดหนุนมูลค่ากว่า 27,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2550 - 2562 (มูลค่าเฉลี่ยปีละ 2,131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในรูปแบบการให้เงินเพื่อปรับปรุงเรือประมง (2) จีน อุดหนุนมูลค่ากว่า 10,266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2551 - 2562 (มูลค่าเฉลี่ยปีละ 855 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในรูปแบบการยกเว้นภาษีรายได้สำหรับบริษัทแปรรูปอาหารทะเล และ (3) ญี่ปุ่น อุดหนุนมูลค่า 1,266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2557 - 2560 (มูลค่าเฉลี่ยปีละ 316 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในรูปแบบกองทุนเพื่อปรับปรุงภาคประมง ส่วนไทยอุดหนุนมูลค่า 36.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2558 - 2562 (มูลค่าเฉลี่ยปีละ 7.3 ล้านดอลาลร์สหรัฐ) ในรูปแบบโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน (โครงการซื้อเรือคืน) และโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน