WTO จ่อเปิดเวทีเจรจายกเว้นสิทธิ IP วัคซีนโควิด ปลดล็อกการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา

07 พ.ค. 2564 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2564 | 15:13 น.

ผอ.ดับบลิวทีโอ ขานรับทันที หลังยูเอสทีอาร์ประกาศพร้อมหนุนการยกเว้นความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิดเป็นการชั่วคราว เพื่อเอื้อให้บริษัทยาในประเทศต่าง ๆสามารถผลิตวัคซีนโควิดได้เร็วขึ้น หวังหยุดยั้งวิกฤตโควิดที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก

นางเอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีลา ผู้อำนวยการ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวชื่นชมข้อเสนอของ สหรัฐอเมริกา ที่ให้มีการ ยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (IP) สำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 พร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาติสมาชิก WTO เร่งหารือในประเด็นดังกล่าว

เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีลา

"เราจำเป็นต้องรับมือกับ การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เนื่องจากโลกกำลังมองดูเรา และผู้คนกำลังล้มตายลง" นางโอคอนโจ-ไอวีลากล่าว ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการเจรจาของ WTO เพื่อหาข้อตกลงตั้งอยู่บนหลักการของฉันทามติ ข้อเสนอดังกล่าวของสหรัฐยังคงต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย เนื่องจากสมาชิกทั้ง 164 ประเทศของ WTO จะต้องให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าและไม่ทันกับความต้องการเร่งผลิตวัคซีน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง WTO และองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างแสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจของสหรัฐ โดยคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประเทศที่ยากจน ซึ่งรวมถึงอินเดีย สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม : ผู้แทนการค้าสหรัฐหนุนงดเว้นความคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิดเป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยโลกฝ่าวิกฤตโรคระบาด)

แม้ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในเวทีระดับโลกครั้งนี้จะเป็นไปในเชิงบวก และให้ความหวังเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วหนึ่งก็แสดงความไม่มั่นใจว่า การที่สหรัฐยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีนโควิด-19 จะช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้จริง เพราะพวกเขามองว่า ปัญหาที่แท้จริงของการผลิตวัคซีนอยู่ที่การขาดวัตถุดิบและองค์ความรู้ในการผลิตมากกว่า

หุ้นบริษัทวัคซีนร่วงยกแผง

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาทั่วโลกต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของสหรัฐ และเตือนว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการรับมือกับโรคระบาด ทั้งยังบั่นทอนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

สื่อต่างประเทศรายงานว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของสหรัฐ เช่น ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 เป็นการชั่วคราว โดยเห็นว่าไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาการขาดแคลนวัคซีน อย่างไรก็ตามยังไม่มีตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใด ออกมาให้ความเห็นหลังจากที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) มีประกาศออกมาเมื่อวันที่ 5 พ.ค.   

ขณะเดียวกัน หุ้นบริษัทวัคซีนพากันร่วงยกแผงเมื่อวานนี้ (6 พ.ค.) จากท่าทีของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่สนับสนุนให้สหรัฐยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ประเทศต่างๆสามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว โดยราคาหุ้นบริษัทไฟเซอร์, โมเดอร์นา และโนวาแว็กซ์ ต่างดิ่งลง 4-10% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวานนี้ (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ซึ่งตรงกับเช้าวันนี้เวลาประเทศไทย)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง