ลั่นเวทีโลก ต้านประมงผิดกฎหมาย

31 พ.ค. 2564 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2564 | 17:27 น.
722

“เฉลิมชัย”  กล่าวสุนทรพจน์  พร้อมแสดงจุดยืนจะมุ่งมั่นในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมดำเนินตามนโยบาย IUU Free Thailand

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมระดับสูงเพื่อเปิดการประชุมภาคีความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า ครั้งที่ 3 หรือ PSMA ที่จัดขึ้นโดย FAO และ EU เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ในการดำเนินงานตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยได้กำหนดให้การต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย “IUU” เป็นวาระแห่งชาติ

 

โดยรัฐบาลไทยได้ปฏิรูปกฎหมายและการบริหารจัดการด้านการประมง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยมาตรการรัฐเจ้าของท่า ตั้งแต่ปี 2559 และดำเนินงานตามมาตรการ PSMA อย่างเคร่งครัดตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมง ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยป้องกันมิให้เรือประมงที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมายเข้าเทียบท่าและนำสัตว์น้ำที่จับได้มาขึ้นท่าเรือ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จับกุมและปฏิเสธการเทียบท่าของสินค้าสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย IUU จำนวนมากกว่า 3,500 ตัน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของไทยในการดำเนินมาตรการ PSMA มาจากการประสานความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพระหว่างรัฐภาคี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้ขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกภาคี โดยเฉพาะรัฐเจ้าของธง ต้องให้ความร่วมมือและดำเนินมาตรการ PSMA อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐเจ้าของท่าในการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และการตรวจสอบย้อนกลับ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสนับสนุนการทำงานของ FAO ในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศสมาชิก ให้สามารถดำเนินมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของมาตรการ PSMA รวมทั้งมาตรการระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายในระดับโลก

 

 

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวประมง โดยมีการปรับปรุงกฎระเบียบในการทำประมง การติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) การเฝ้าระวังเรือประมงไทยและต่างชาติอย่างเข้มงวด การประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้านประมงและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดกฎหมายประมง และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

“ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนแนวคิดการปรับเปลี่ยนไปสู่การมีระบบอาหารที่ยั่งยืน สามารถปรับตัวได้ในทุกภาวะวิกฤติ และพร้อมจะแสดงศักยภาพและบทบาทที่สำคัญของการทำประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็ก รวมทั้งการจัดการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เราทุกคนต่างมุ่งหวังว่า ผู้แทนประเทศสมาชิกจะกลับไปพร้อมกับคำมั่นสัญญาที่จะร่วมกันสร้างความยั่งยืนด้านการประมง และปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร โดยในส่วนของประเทศไทยขอยืนยันว่าจะมุ่งมั่นในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย และจะดำเนินตามนโยบาย IUU Free Thailand ต่อไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว