กบร.ไฟเขียว 4 มาตรการ ลุย ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

21 มิ.ย. 2564 | 17:28 น.
766

กบร. เคาะ 4 มาตรการด้านการบินเตรียมรับการเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เร่งศึกษาดึงเทคโนโลยีพัฒนาการจัดการสนามบินภายในประเทศ เล็งขยายผลเพิ่มอีก 9 จังหวัด

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า  ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 6/2564 มีมติเห็นชอบ 4 มาตรการด้านการบิน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปิดประเทศ นำร่องจังหวัดภูเก็ตในเดือนกรกฎาคมเป็นที่แรก (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์) หากสำเร็จจะขยายไปอีก 9 จังหวัดและเปิดทั้งประเทศในอีก 120 วันข้างหน้า ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมการบินของไทยจะฟื้นฟูและมีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศในเดือนธันวาคม 2564 ราว 1,400,000 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2564 ประมาณ 10 เท่า (ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลการบินนานาชาติ)รวมทั้งกบร.ได้ให้นโยบายเร่งศึกษาการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการจัดการสนามบินภายในประเทศและให้กระทรวงคมนาคมเชิญหน่วยงานที่ดูแลสนามบินร่วมหารือเดินหน้าเพื่อพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลผู้โดยสารและการให้บริการที่รวดเร็วขึ้น ลดการสัมผัส และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางจากทั่วโลก

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า  สำหรับมาตรการด้านการบินในด้านศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศ สั่งการให้จัดสรรเวลาการบิน (Slot) อย่างเหมาะสม โดยขณะนี้มีเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศอยู่ในกำหนดการบินประจำฤดูร้อน 2564 คือ 1 กรกฎาคม - 30 ตุลาคม 2654 และในกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2564/2565 31 ตุลาคม 2564 – 26 มีนาคม 2565 เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นสำหรับสนามบินภูเก็ตในกำหนดการบินประจำฤดูร้อน 2564 มีเที่ยวบินจัดสรรแล้วราว 134 เที่ยวบินต่อวัน จากขีดความสามารถในการรองรับ 480 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 28 โดยคาดว่าจะขออนุญาตเพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเปิดประเทศ  สำหรับในกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2564/2565 มีจำนวนเที่ยวบินที่จัดสรรไปยังสนามบินภูเก็ตแล้วประมาณ 320 เที่ยวบินต่อวัน จากขีดความสามารถในการรองรับ 360 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 89 ทั้งนี้ เที่ยวบิน ระหว่างประเทศที่ได้รับการจัดสรรขณะนี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกและยุโรป (ข้อมูล Slot  ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2564 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง)

 

 

สำหรับในเดือนกรกฎาคม 2564 คาดว่าจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งประเทศ จะเพิ่มจาก 5,698 เที่ยวบิน เป็น 13,354 เที่ยวบิน ส่วนจำนวนผู้โดยสารคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 79,226 คน เป็น 146,448 คน และคาดว่าในเดือนธันวาคม 2564 ประเทศไทยจะมีผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1,469,805 คน หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากในเดือนกรกฎาคม 2564 

 

 

ขณะเดียวกันที่ประชุมกบร.จึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ตรวจสอบความพร้อมด้านการบินให้ครอบคลุมทุกมิติก่อนเปิดประเทศ เพื่อเตรียมการให้เป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากที่ผ่านมาจำนวนเที่ยวบินอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน โดยมีเป้าหมายการฟื้นฟูระยะยาวของอุตสาหกรรมการบินไทย สถิติเดิมของผู้โดยสารระหว่างประเทศในช่วงปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีจำนวนราว 89 ล้านคน แต่ในปี 2563 ลดลงเหลือเพียงราว 16 ล้านคน ลดลงร้อยละ 81.7 ซึ่งหากการเปิดประเทศเป็นไปตามเป้าหมายและอุตสาหกรรมการบินมีการฟื้นตัว ในระยะยาวคาดว่าไทยจะกลับมามีผู้โดยสารระหว่างประเทศในจำนวนที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดได้ ก่อนปี 2568

 

 

ด้านการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของสนามบิน สายการบิน เครื่องบินและนักบินตามปกติแล้ว CAAT มีแผนในการตรวจสอบด้านความปลอดภัยตามวงรอบในทุกประเภทของผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ รองรับการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งตามแนวทางที่ กบร. ได้ให้ไว้ CAAT จึงมีทั้งวิธีการออกตรวจแบบเดิม (Onsite audit) และปรับวิธีการตรวจเป็นแบบระยะไกล (Remote audit) เพื่อให้เหมาะสมตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในส่วนของสนามบินโดยกรมท่าอากาศยาน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การท่าอากาศยานอู่ตะเภาและบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต้องส่งรายการตรวจสอบและหลักฐานการดำเนินงานของสนามบินภายในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อประเมินความพร้อมด้านมาตรฐานความปลอดภัยก่อนเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นรายงานฉบับปรับปรุงโดยเฉพาะเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19  โดย CAAT จะตรวจสอบรายงานและหลักฐานที่ส่งมาให้  หากพบประเด็นความไม่พร้อมจากสนามบินนั้นๆสนามบินจะต้องเร่งแก้ไขก่อนที่จะสามารถเริ่มกลับมาให้บริการระหว่างประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ

 

ขณะที่ด้านสายการบินของไทยและเครื่องบินต้องได้รับการตรวจสอบการปฏิบัติงานในฐานะผู้ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ตรวจสอบแผนการบำรุงรักษาและสภาพเครื่องบิน ซึ่งที่ผ่านมา CAAT ตรวจตามแผนและวงรอบที่กำหนดอย่างต่อเนื่องทั้งวิธีการตรวจแบบ Onsite และ Remote แต่เพื่อทดสอบความพร้อมเป็นกรณีพิเศษ สายการบินจะต้องได้รับการตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแบบฟอร์มที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะสำหรับสถานการณ์โควิด-19 และในส่วนของเครื่องบินหากจอดเป็นระยะเวลานานต้องตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้พร้อมนำกลับมาให้บริการผู้โดยสารอย่างปลอดภัย เช่น เครื่องบินของการบินไทยจะต้องได้รับการตรวจสอบก่อนนำกลับไปให้บริการระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นสายการบินแรก ส่วนเครื่องบินของสายการบินอื่น ๆ หากมีความพร้อมสามารถขอเข้ารับการตรวจได้เช่นกันสำหรับนักบินและพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ แม้เที่ยวบินระหว่างประเทศจะลดลง แต่ที่ผ่านมาได้กำหนดให้ปฏิบัติงานในห้องจำลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาชั่วโมงและเตรียมพร้อมการกลับมาปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ

 

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคของผู้โดยสารและบุคลากรทางการบินได้จัดให้บุคลากรด้านการบินที่ปฏิบัติหน้าที่ในด่านหน้า ฉีดวัคซีนเข็มแรกเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2564 ส่วนบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินโดยรวม ขณะนี้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วประมาณ 48,351 คน (13 มิ.ย. 2564) และกำลังทยอยเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างต่อเนื่องในการกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามกรอบการดำเนินงานระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) Guidance for Air Travel through the COVID-19 Public Health Crisis และคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งกำหนดไว้เป็นมาตรฐานสากลรวมถึงต้องปฏิบัติตามประกาศของCAAT ที่ปรับปรุงเป็นระยะให้ทันต่อสถานการณ์อย่างเคร่งครัด และประกาศ แต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถป้องกันโรคอย่างรัดกุมถูกต้องและส่งเสริมให้บรรลุตามเป้าหมายที่ประเทศไทยได้วางไว้

 

 

ทั้งนี้ที่ประชุมกบร.เร่งศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการจัดการสนามบินภายในประเทศ กบร.ได้ให้นโยบายเร่งศึกษาการนำเทคโนโลยีการจัดการระบบข้อมูลผู้โดยสารและบริการมาใช้สำหรับสนามบินภายในประเทศ และให้กระทรวงคมนาคมเชิญหน่วยงานที่ดูแลสนามบินร่วมหารือเดินหน้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารจากทั่วโลกที่คาดว่าจะเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศภายในสิ้นปีนี้และมีการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเทคโนโลยีที่พิจารณาให้นำมาใช้ มีดังนี้

 

 

1. ระบบรายงานข้อมูลผู้โดยสารล่วงหน้าสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ (Domestic API) สายการบินจะสามารถส่งรายงานข้อมูลส่วนบุคคลแบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้โดยสารภายในประเทศให้กับสนามบินต้นทาง ปลายทาง และสนามบินที่มีเที่ยวบินแวะผ่าน (Transit/Transfer) เพื่อใช้สำหรับการเช็คอินขึ้นเครื่องบิน (Check-in) ได้ ทำให้ขยายขีดความสามารถการเชื่อมโยงและติดตามข้อมูลของผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงเตรียมรองรับการใช้งานหนังสือเดินทางสุขภาพ (Health Passport) ในอนาคต

 

2. ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง CUPPS (Common Use Passenger Processing System) หรือระบบเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติ ผู้โดยสารจะสามารถเช็คอินด้วยตนเองโดยกรอก Booking Number จากนั้นระบบจะพิมพ์บัตรโดยสารและป้ายติดสัมภาระ (Baggage Tag) โดยอัตโนมัติ รวมถึงมีระบบพิสูจน์อัตลักษณ์ที่แม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการผู้โดยสารในสนามบินภายในประเทศให้เป็นมาตรฐานทัดเทียมสนามบินนานาชาติ และช่วยลดจำนวนเจ้าหน้าที่ ลดขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร ลดการสัมผัสและลดความแออัดภายในสนามบิน เพื่อรองรับ          การเดินทางทางอากาศในรูปแบบใหม่ในอนาคต (ปัจจุบันสนามบินนานาชาติของประเทศไทย มีการใช้งานทั้ง 2 ระบบอยู่แล้ว)

 

 

อย่างไรก็ตามภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดประเทศ
รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เข้ามาพักอาศัยโดยไม่ต้องกักตัว
อยู่ในจังหวัดภูเก็ตอย่างน้อย 14 วัน และสามารถไปเที่ยวพื้นที่อื่นต่อได้
โดยหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทย
ซึ่งนายกรัฐมนตรีคาดว่าจะสามารถเริ่มได้ตามแผนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ หากสำเร็จจะขยายเป้าหมายไปในอีก 9 จังหวัด  และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังได้ประกาศเป้าหมายการเปิดประเทศไทยทั้งประเทศภายใน 120 วัน ดังนั้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการฟื้นฟูการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศและเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินของไทยซึ่งเป็นการคมนาคมหลักที่จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง