รัฐผนึกเอกชน คลอดแนวทางคุมโควิดระบาดโรงงาน พร้อมปูพรหมฉีดวัคซีนแรงงานทั่วประเทศเดือน ส.ค.

11 มิ.ย. 2564 | 17:25 น.

รัฐร่วมมือกับเอกชน ออกมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด-19 แพร่ระบาดในโรงงาน พร้อมปูพรหมฉีดวัคซีนแรงงานทั่วประเทศเดือนสิงหาคม

 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19) ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ทั้งในระดับประเทศ และจังหวัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงานและปกป้องเศรษฐกิจของประเทศนั้น มีความเห็นร่วมกันว่าการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานจะทำด้วยหลักการ “Online - Onsite - Upgrade -Vaccine”
    1.Online ให้โรงงานประเมินตนเอง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือโรงงานทั่วประเทศ ประเมินตนเองผ่าน Platform online : Thai Stop Covid plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยกลุ่มเป้าหมายแรกเป็นโรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 3,304 ราย ให้แล้วเสร็จภายใน  15 มิถุนายน 2564 ซึ่งจากรายงานล่าสุดพบว่ากลุ่มเป้าหมายมีการประเมินตนเองผ่าน Platform ดังกล่าว ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,722 ราย หรือคิดเป็น 52% แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ ให้ความสำคัญและเริ่มดำเนินการเพิ่มมากขึ้น
    2.Onsite จัดทีมแนะนำและติดตามการประเมินตนเอง โดยให้สำนักอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ BOI ร่วมกันจัดทีมสุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ (On-site) ให้ได้ 10-20% ของสถานประกอบการเป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการขนาดใหญ่  ที่มีความสำคัญในพื้นที่ สถานประกอบการที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สถานประกอบการที่ได้คะแนนการประเมินตนเองในแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กำกับและติดตาม ผลการประเมินตนเองของโรงงานในพื้นที่และรายงานข้อมูลตามแผนการตรวจประเมินเสนอผลการรายงานมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรายสัปดาห์ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564
    3.Upgrade จัดมาตรการลดความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพ ด้วยการจัดทำมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการจากโควิด-19 หลังจากโรงงานประเมินตนเองผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus และการลงพื้นที่ On-site ประเมินโรงงานเป้าหมายจะมีมาตรการเพื่อช่วย Upgrade สถานประกอบการให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งมีมาตรการเสริมแกร่งเพื่อช่วยให้โรงงานสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดันการดำเนินงานต่อไป
    4.Vaccine เร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงงาน เร่งผลักดันการเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ นิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 2,000 คน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมส่งออก ที่จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาในไตรมาส 3 และ 4 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งขยายตัวมากกว่า 10% จากการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง 
    ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรมแล้ว รวมจำนวน 27 แห่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบแล้ว 6 แห่ง (นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ) และอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบ 21 แห่ง โดยจะขอความอนุเคราะห์จาก ศบค. พิจารณาให้ความสำคัญต่อการจัดสรรวัคซีนให้กับศูนย์ฉีดวัคซีนฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่จะร่วมสุ่มตรวจ Onsite ในโรงงานกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น

รัฐ-เอกชน ร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19
    สำหรับแผนการกระจายวัคซีนให้กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นั้น ในเดือนมิถุนายน จะดำเนินการฉีดให้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  โดยมีผู้ประกันตรต้องการวัคซีน 2,465,405 ราย ส่วนเดือนกรกฏาคม จะดำเนินการในพื้นที่ 11 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดสีแดงเข้ม จังหวัดปริมณฑล (สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ) เพชรบุรี และอยุธยา ซึ่งมีผู้ประกันตนต้องการรับวัคซีน 2,275,227 ราย และเดือนสิงหาคมจะดำเนินการในพื้นที่ 65 จังหวัด โดยมีผู้ประกันตนต้องการรับวัคีน 1,482,877 ราย
    "ปัจจุบันมีจำนวนโรงงานทั้งหมด 6,400 โรงงานทั่วประเทศ แบ่งเป็น กลุ่มแรก ซึ่งมีแรงงานมากกว่า 200 คน จำนวน 3.3 พันแห่ง มีแรงงาน 1.9 ล้านคน กลุ่ม  2 น้อยกว่า 200 คน จำนวน 6.1 หมื่นแห่ง  มีแรงงาน  1.4 ล้านคน รวมเป็น 3.3 ล้านคน"
    นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่แรงงาน ให้สถานการณ์ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีการขับเคลื่อนต่อไปได้โดยเร็ว นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงการเตรียมความพร้อมของศูนย์กระจายฉีดวัคซีนในสถานประกอบกิจการโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตลอดจนแผนการตรวจเยี่ยมศูนย์กระจายฉีดวัคซีนในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :