7 สมาคมเหล็กยื่นหนังสือนายกเสนอ 5 แนวทางช่วยผู้ใช้เหล็ก

18 พ.ค. 2564 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2564 | 18:50 น.
553

7 สมาคมเหล็กยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเสนอ 5 แนวทางบรรเทาผลกระทบช่วยผู้ใช้เหล็ก

นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย เปิดเผยว่า ผู้แทนกลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก ได้ยื่นหนังสือเรื่อง “ขอความอนุเคราะห์พิจารณาข้อเสนอแนวทางบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าเหล็ก” ถึงพล.อ.ประยุทธุ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยย้ำข้อเสนอ 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.สร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน ,2.กลุ่มผู้ผลิตในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต ,3.สนับสนุนให้ภาครัฐพิจารณาปรับเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K)
 ,4.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ และ5.เร่งนำเสนอ และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 โดยเชื่อมั่นว่าหากนายกรัฐมนตรีสนับสนุน และมอบนโยบายตามข้อเสนอของ 7 สมาคมฯ เหล็กให้กับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่การผลิตจะสามารถบรรเทาผลกระทบผู้ใช้สินค้าเหล็กได้
นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ใช้สินค้าเหล็กเป็นวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาสินค้าเหล็กเช่นกัน แต่ทั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการปรับราคาขึ้นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก นอกจากนี้อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศยังมีส่วนช่วยชะลอการขึ้นราคาขายในประเทศ เนื่องจากราคาขายเป็นไปตามต้นทุนการผลิตที่สามารถจัดหาได้ ไม่ได้ปรับตามราคาซื้อขายตามราคาตลาดโลกทันที
สำหรับการบรรเทาผลกระทบของผู้รับเหมาก่อสร้างงานโครงการภาครัฐเชื่อว่าการปรับค่า K น่าจะเป็นมาตรการเร่งด่วนที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ และในอนาคตเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเหล็กควรจะมีการสร้างความเชื่อมโยง และร่วมมือกันตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตเหมือนหลายประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยให้ความเห็นต่อแนวทางของกลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็กว่า เป็นแนวทางที่น่าสนใจ และเชื่อว่าหากมีความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนจะสามารถดำเนินการบรรลุตามเป้าประสงค์ได้ นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงมาตรการระยะสั้นซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วน เช่น การพิจารณาปรับค่า K หรือแม้แต่การร่วมมือกันระหว่างผู้ใช้ และผู้ผลิตซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ และระยะยาวที่เน้นการสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเหล็กโดยเฉพาะความพยายามในการวางแผน และนำเสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :