DOW ลุยนวัตกรรมดักจับก๊าซเรือนกระจก

10 พ.ค. 2564 | 17:55 น.

DOW ลุยนวัตกรรมดักจับก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 90% ต้านโลกร้อน เผยมีถึง 30 สูตร สามารถนำไปเคลมเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตได้

กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ผู้นำด้านแมททีเรียลส์ ไซแอนซ์ (Materials science) ระดับโลก เปิดเผยถึงนวัตกรรมต้านโลกร้อนที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ โซลูชันดักจับก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ “UCARSOL™” (ยูคาซอล) ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการดักจับเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ และสามารถนำก๊าซที่ดักจับได้ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วย

 เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ในปริมาณมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้า และโรงงานปุ๋ย Dow ได้คิดค้นโซลูชัน “UCARSOL™” ซึ่งดักจับก๊าซเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานน้อยลงกว่าเดิม ช่วยต้านโลกร้อน และยังสามารถนำไปเคลมเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

นายวิชาญ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ภูมิภาคเอเชีย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวถึงนวัตกรรมนี้ว่า “ดาว ได้พัฒนานวัตกรรม UCARSOL™ เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้สามารถดักจับก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 90% ทั้งยังช่วยประหยัดการใช้พลังงานในกระบวนการ และสามารถนำทั้งสาร UCARSOL™ เอง และก๊าซที่ดักจับได้หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ปัจจุบันกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ทำให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่าปีละ 10 % และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศในเอเชียที่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ได้นำโซลูชันนี้มาใช้เป็นเวลาหลายปีแล้ว และได้เริ่มนำมาใช้แล้วในประเทศไทยแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

DOW ลุยนวัตกรรมดักจับก๊าซเรือนกระจก

ยกตัวอย่างกรณีศึกษา ในปี 2563 ลูกค้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเกาหลีใต้ สามารถลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ที่ถูกปล่อยออกไปในอากาศได้กว่า 75% และลดพลังงานความร้อนที่ใช้ในกระบวนการดักจับก๊าซได้ถึง 34% หรือเท่ากับลดต้นทุนพลังงานได้ 1 ใน 3 โดยที่ลูกค้าไม่ต้องหยุดการผลิตในระหว่างการเปลี่ยนผ่านเป็นสารตัวใหม่นี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การหยุดผลิตในอุตสาหกรรมโรงกลั่นนั้นก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งเวลาและงบประมาณมหาศาล ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,500 ตันต่อปี (เทียบเท่าต้นไม้ 250,000 ต้น) และ ลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ได้ 410 ตันต่อปี

 อีกตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ในปี 2562 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมกับบริษัทไอซากิ คูลเจน สร้างโรงไฟฟ้าโครงการนำร่องด้านการลดมลพิษทางอากาศ ได้เลือกใช้ SELEXOL™ Max ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในกลุ่ม UCARSOL™ ที่มีประสิทธิภาพสูงดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 90% และคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บได้จะอยู่ในรูปบริสุทธิ์ 99%  สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อในอุตสาหกรรมอื่นได้ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ 150,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับปลูกต้นไม้ 1.5 ล้านต้น

DOW ลุยนวัตกรรมดักจับก๊าซเรือนกระจก

ในประเทศไทย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทไออาร์พีซี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปริมาณการใช้ไอน้ำ และลดการใช้พลังงาน โดยสามารถประหยัดพลังงานไอน้ำมูลค่า 41 ล้านบาทต่อปี ช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึงประมาณ 30% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 20 % หรือ 4,382  ตันคาร์บอนต่อปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 430,000 ต้น

 ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากกฎหมายใหม่ๆ ที่มีบังคับใช้แล้ว  ลูกค้าของภาคอุตสาหกรรมเองก็ยังหันมาเรียกร้องให้ใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น การลดใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการควรลงทุน ไม่ใช่เพียงเพื่อความยั่งยืนแต่ยังเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

 ปัจจุบัน Dow มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้กว่า 30 สูตร โดยทีมงาน Dow จะเข้าไปประเมินและเสนอสูตรที่เหมาะสมให้แต่ละโรงงานโดยเฉพาะเพื่อความคุ้มค่าในด้านงบประมาณและผลดีสูงสุดในด้านสิ่งแวดล้อม เราประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก รวมทั้งหลายประเทศในเอเชีย และเราพร้อมที่จะส่งมอบเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับโรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทย” นายวิชาญ กล่าวสรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“ราล์ฟ ลอเรน” ผนึก “Dow” รุกแฟชั่นรักษ์สิ่งแวดล้อมตีตลาดโลก

Dow เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ เพื่อแบตเตอรี่รถ EV ในไทย

Dow มอบถุงยังชีพ-อุปกรณ์จำเป็น ช่วยชาวระยองป้องกันโควิด

ทิศทาง DOW ประเทศไทยปี64 รักษาผู้นำนวัตกรรมแพ็กเกจจิ้ง

“Dow” ผนึก “โตโยโก” ผุดนวัตกรรมหลังคากันร้อนเจาะอาเซียน