“บีทีเอส” จับโป๊ะ รฟม. เคลียร์คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มส่อฮั้วประมูล

10 พ.ค. 2564 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2564 | 08:53 น.
6.1 k

เดือดจัด!“บีทีเอส” จับโป๊ะ รฟม. เคลียร์คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มส่อฮั้วประมูล

 กลายเป็นประเด็นอย่างต่อเนื่องสำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์ (สุวินทวงศ์) ที่ส่อแววฮั้วประมูล เนื่องจากที่ผ่านมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้เปลี่ยนเงื่อนไขรายละเอียดการประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยใช้เกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนนและข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน หลังเปิดรับซองประมูลจากเอกชนทั้ง 2 รายแล้ว อีกทั้งยกเลิกการประมูลโครงการกลางคัน เป็นเหตุให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยื่นฟ้องศาลทั้ง 3 แห่ง เพื่อขอความเป็นธรรม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5พฤษภาคม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้รับคำฟ้องคดีที่บีทีเอสซียื่นฟ้องผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา36 ทั้ง 7 คน  ในกรณียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ในคดีหมายเลขดำที่ อท 30/64 ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้รับคำฟ้องคดีที่บีทีเอสซียื่นฟ้องผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา36 ทั้ง 7 คน  ในกรณียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เบื้องต้นศาลฯ นัดไต่สวนคดีดังกล่าวอีกครั้งภายในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้  ปัจจุบันทางบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 3 คดี  ประกอบด้วย คดีในศาลปกครองสูงสุดอีก 2 คดี คือ 1.ยื่นอุทธรณ์กรณีศาลปกครองพิจารณาจำหน่ายคดี 2.ฟ้องการยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ 3. คดีในศาลอาญาครั้งนี้

"หาก รฟม.เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ บริษัทคงต้องดูก่อนว่าทีโออาร์จะกำหนดมาแบบใด ถ้าออกมาใช้หลักเกณฑ์เดิมที่เคยทำเป็นปกติ โดยใช้คะแนนด้านราคา 100 คะแนน เราก็ยืนยันยื่นประมูลแน่นอน แต่ถ้า รฟม.ยืนยันจะใช้คะแนนด้านเทคนิคพิจารณาด้วย 30 คะแนน ก็คงต้องขอประเมินก่อนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่"

สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ประเมินข้อเสนอทั้ง 2 รูปบบนั้น มีความได้เปรียบเสียเปรียบ คือ การกำหนดใช้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน รฟม.มีการกำหนดด้วยว่าผู้รับเหมาไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะปัจจุบันผู้รับเหมาไทยที่มีประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์มีเพียง 3 ราย โดยประเด็นการได้เปรียบเสียบเปรียบนี้ บีทีเอสได้ส่งความเห็นไปยัง รฟม. เมื่อครั้งที่มีการสอบถามประกอบการพิจารณาร่างสัญญาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่แล้วในช่วงที่ผ่านมา

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ขณะเดียวกันศาลฯ ได้มีคำสั่งรับฟ้องกรณีที่บริษัทฯ ยื่นฟ้องผู้ว่ารฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และจะเปิดโอกาสให้รฟม. หรือจำเลยส่งคำคัดค้านภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหมายแจ้งนัด ซึ่งจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้  โดยมั่นใจว่าคดีดังกล่าวจะได้ข้อยุติหรือความชัดเจนในช่วงปลายปี 2564

"โครงการฯนี้มีมูลค่าถึงแสนล้าน ซึ่งบริษัทไม่ได้การคัดค้านการประมูล แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นมีความไม่ชอบมาพากล เราต้องการให้คนอื่นๆเห็นว่าเราถูกรังแก แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากระบวนการยุติธรรมโปร่งใสหรือไม่"

สำหรับการฟ้องร้องคดีต่อศาลแพ่งนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับทนายความ ซึ่งต้องใช้เอกสารในการฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประกอบเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท แต่กลับยกเลิกประมูลกลางคัน โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาโครงการฯ แล้ว ส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหาย จากการการยกเลิกประมูลโครงการฯ ในครั้งนี้

นายนรินท์พงศ์  จินาภักดิ์    ทนายความของบีทีเอส  กล่าวว่า ขณะนี้บีทีเอสได้รับข้อมูลใหม่ ว่ามีคณะกรรมการอีก 1 ชุด ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ลงนามร่วมกันยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งที่ผ่านมา ทำให้จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย เพราะถือว่ามีส่วนทำให้โครงการเสียหาย  ซึ่งจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลพิจารณาต่อไป

ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า มีข้อเท็จจริงเดียวกับที่นำมาฟ้องต่อศาลอย่างไรหรือไม่ โดยทนายนำเรียนศาลว่า เป็นกรณีบุคคลภายนอกไปร้องเรียนต่อดีเอสไอ  ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่มีการหยิบประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะให้เจ้าหน้าที่ศาลมีหนังสือสอบถามพร้อมส่งคำฟ้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวคงอยู่ที่กระบวนการของศาลฯ ลากยาวถึงปลายปีนี้แน่นอน หากรฟม.ไม่เร่งรัดดำเนินการเปิดประมูลโครงการฯ ส่งผลต่อการเปิดให้บริการแก่ประชาชนล่าช้าออกไปเลยเป้าหมายที่วางไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

บีทีเอส ลุ้น5พ.ค. ศาลรับคำฟ้องรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ผ่าปมทางออก ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ล้มสายสีส้ม จบที่ครม.-ศาล ยึดเกณฑ์เทคนิค+ราคา บีทีเอสจ่อฟ้องอีกรอบ