เยือน‘ซีเมนส์’ดูการผลิต ‘น้องบลูไลน์’ 35 ขบวนใหม่

16 พ.ย. 2562 | 13:10 น.
7.5 k

ด้วยประสิทธิภาพการเดินรถ แทบไม่มีสะดุด โอกาสเสียน้อย BEM จึงเป็นพันธมิตรกับ “ซีเมนส์” ผู้ผลิตขบวนรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ให้บริการประชาชนมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เริ่มเดินรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลใต้ดิน MRT สายแรกจนถึงทุกวันนี้ ล่าสุดได้สั่งซื้อรถรุ่นใหม่อีก 35 ขบวนรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากส่วนต่อขยาย ที่จะครบวงรอบในเดือนมีนาคม 2563”

นี่คือคำกล่าวของ นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ หรือ BEM ระหว่างเดินทางสู่บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด โรงงานผลิตรถไฟฟ้า เบอร์ต้นของโลก ที่มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 1 แสนตารางเมตร ณ กลางใจกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา

ภายในโรงงานสังเกตว่ามีตัวถังรถไฟฟ้าหลากรุ่น อยู่ระหว่างประกอบจำนวนมาก สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของระบบราง แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวแก้ปัญหาจราจรแทบทุกประเทศทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นกัน ปัจจุบันมีโครงข่ายระบบรางเชื่อมโยงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่รวมจังหวัดหัวเมืองใหญ่

ที่สะดุดตาเห็นจะเป็นน้องบลูไลน์ รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินรุ่นใหม่ การออกแบบทันสมัย พร้อมทั้งอัพเกรด ใส่ซอฟต์แวร์เพิ่มตัววิ่งบอกเตือนผู้โดยสารรายสถานีก่อนถึงจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้แล้วยัง เพิ่มพื้นที่สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร ราวจับและระบบรักษาความปลอดภัยที่ต่างไปจากรถรุ่นเก่า

แม้ภายนอกมีสีสันสดใสบอบบาง แต่เมื่อสัมผัสองค์ประกอบภายในแล้ว กว่าจะประกอบเป็นรูปเป็นร่าง ต้องใช้นอตจำนวนมากถึง 30,000-40,000 ตัว สายไฟเดินรอบตัวรถกว่า 60 กิโลกรัม ก่อนจะหุ้มห่อด้วยอะลูมิเนียมเกรดพรีเมียม ใช้แรงงานกว่า 1,000 คน พระเอกของงานคือหุ่นยนต์

เยือน‘ซีเมนส์’ดูการผลิต ‘น้องบลูไลน์’ 35 ขบวนใหม่

ขณะเมืองกราซ อีกโรงงานของซีเมนส์ ที่นี่จะผลิตชิ้นส่วนคล้ายเครื่องยนต์ตัวขับเคลื่อน เรียกว่า “โบกี้” ก่อนส่งมาประกอบที่เวียนนา ส่วนนี้คือหัวใจสำคัญ ก่อนจะมีวัสดุตัวถังประกอบจากการบอกเล่าของวิศวกรของซีเมนส์ ระบุ ต้องใช้เวลาพัฒนาแต่ละโบกี้นานถึง 3-5 ปี โดยมีกำลังการผลิต 2,000-3,000 โบกี้ต่อปี คู่แข่งสำคัญ ได้แก่ อเมริกา, ญี่ปุ่น, จีน, สหราชอาณาจักร ฯลฯ แต่ ซีเมนส์ คือนัมเบอร์วัน

 

นายวิทูรย์ยํ้าว่า “รถใหม่ระบบ ใหม่ มารอบนี้ไม่ใช่เฉพาะซื้อรถ แต่อัพเกรดเพิ่มเปลี่ยนทั้งระบบ ที่สำคัญคือระบบอาณัติ สัญญาณใช้ระบบสคาร์ด้า (SCADA) (เป็นระบบตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์แบบเรียลไทม์จากระยะไกล) แรกๆ ของการเดินรถอาจมีปัญหาจุกจิกบ้าง มองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องค่อยๆ ปรับจูนเหนือสิ่งอื่นใดคือความปลอดภัย ที่อยากให้ผู้ใช้บริการไว้วางใจ”

 ก่อนเดินทางกลับ นายโทมัส มาซัวร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีเมนส์ ระบุว่า “ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าในกทม. ด้วยการช่วยสร้างระบบนี้ขึ้นมาหวังว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ ที่ให้ดูเพื่อความมั่นใจว่าโปรดักต์ที่ทำมีคุณภาพ มีกระบวนการที่ดี โดยเฉพาะการพัฒนาโบกี้ ตัวแปรสำคัญในการเดินรถ”กว่าจะได้รถไฟฟ้าแต่ละขบวนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สร้างความไว้วางใจให้กับผู้โดยสาร นั่นคือ ความปลอดภัย

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3522 ระหว่างวันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน 2562