เศรษฐกิจไทย 2568 กับการคาดการณ์แบบมีเหตุผล

05 ม.ค. 2568 | 09:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2568 | 09:40 น.
933

เศรษฐกิจไทย 2568 กับการคาดการณ์แบบมีเหตุผล : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

ประเทศไทยเราในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับการโฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไป ให้นำเงินไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ โดยเสนอผลตอบแทนสูงถึง 9% ถึง 10% ต่อเดือนของเงินลงทุน ชักชวนให้ซื้อสินทรัพย์ อาทิ ทองคำ ในราคาถูกกว่าราคาตลาด ชักชวนให้นำเงินไปลงทุนในหุ้น โดยให้ผลตอบแทนร้อยละ 40 ต่อปี ทำกำไรสูงในระยะเวลาสั้นและยังรับประกันผลตอบแทน  

โฆษณาชักชวนให้นำเงินมาลงทุนในธรุกิจผลผลิตทางการเกษตร ให้ผลตอบแทนสูงมากถึง18% ถึง 30% ต่อเดือน การลงทุนในเครือข่ายขายสินค้าธุรกิจออนไลน์ ที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง แต่ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้างได้ 


และมีอีกหลายๆ กรณีในลักษณะเดียวกันที่ให้กำไรสูงเกินจริง ซึ่งพบว่า มีผู้เสียหายหลายพันคนและความเสียหายหลักพันล้านบาท คำถามคือ อัตราผลตอบแทนในการลงทุนควรจะอยู่ในระดับใด ในการตอบคำถามนี้ เราจำเป็นต้องพิจารณาแนวคิดของการคาดการณ์แบบมีเหตุผล (Rational expectation)

การคาดการณ์แบบมีเหตุผล คือ การพยากรณ์ที่เหมาะสม (Optimal forecast) หรือ การเดาอนาคตที่ดีที่สุด (Best guess of the future) โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วหมายความว่าอย่างไร ยกตัวอย่าง เวลาที่ใช้ในการขับรถไปทำงาน ปกติ นาย ก ใช้เวลาเฉลี่ย 30 นาทีจากบ้านไปที่ทำงาน บางวัน 32 นาทีแต่บางวัน 29 นาที จะได้ว่า ในเวลาปกติการคาดการณ์แบบมีเหตุผลของเวลาขับรถไปทำงานของนาย ก คือ 30 นาที แต่ในชั่วโมงเร่งด่วน นาย ก ใช้เวลาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอีก 10 นาที 

ดังนั้น ในชั่วโมงเร่งด่วน การเดาอนาคตที่ดีที่สุด หรือ การพยากรณ์ที่เหมาะสมของเวลาขับรถ คือ 40 นาที ถ้าข้อมูลทั้งหมดที่ นาย ก มีก่อนออกจากบ้าน คือ การออกจากบ้านในชั่วโมงเร่งด่วน เวลา 30 นาทีจากบ้านไปที่ทำงาน จะไม่เป็นการคาดการณ์แบบมีเหตุผล จะเห็นได้ว่า การคาดการณ์แบบมีเหตุผลอาจจะไม่ถูกต้องแม่นยำเสมอไป 

การนำทฤษฎีการคาดการณ์แบบมีเหตุผลไปใช้ในตลาดการเงิน เรียกว่าสมมุติฐานตลาดที่มีประสิทธิภาพ (Efficient market hypothesis) ซึ่งตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินสะท้อนถึงข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด

อาทิ นักลงทุนมีข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์นี้มาก ทำให้นักลงทุนมองว่า สินทรัพย์นี้มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์นี้สูง ราคาของสินทรัพย์ในช่วงเวลาถัดไปยังไม่ทราบที่เวลานี้ จำเป็นต้องถูกคาดการณ์ ทำให้ผลตอบแทนที่ได้เป็นผลตอบแทนที่ถูกคาดการณ์ไปด้วย 

เมื่อการคาดการณ์ราคาของสินทรัพย์เป็นการคาดการณ์แบบมีเหตุผล ทำให้ผลตอบแทนที่ได้เป็นผลตอบแทนคาดการณ์ที่มีเหตุผลตามไปด้วย เราไม่สามารถสังเกต หรือ หาค่าของการคาดการณ์แบบมีเหตุผลของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ 

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนคาดการณ์ของสินทรัพย์จะมีแนวโน้มมุงไปสู่ผลตอบแทนดุลยภาพ ซึ่งทำให้อุปสงค์และอุปทานของสินทรัพย์เท่ากัน หรือมุ่งไปสู่ผลตอบแทนดุลยภาพของตลาด หรือผลตอบแทนตามปกติธรรมชาติของตลาด 

ดังนั้นกล่าวได้ว่า ผลตอบแทนคาดการณ์ที่มีเหตุผลเท่ากับผลตอบแทนตามปกติของตลาดนั่นเอง ดังนั้น คนที่มีเหตุผล (Rational people) จะเข้าใจว่าเราไม่สามารถที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่าผลตอบแทนตามปกติของตลาด

เมื่อมองดูผลตอบแทนระยะสั้นของประเทศ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย มีผลกระทบโดยตรงต่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้น และอัตราผลตอบแทนคาดการณ์ระยะสั้นของสินทรัพย์ทางการเงินต่อปี ซึ่งอยู่ที่ 2.25% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 0.25% ถึง 0.3% ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล 1 ปี อยู่ที่ 2% 

เงินปันผลจากหุ้นอยู่ที่ 2% ถึง 3% และกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นอยู่ที่ 3% ถึง 5% ดังนั้น ผลตอบแทนของหุ้นอยู่ที่ 5% ถึง 8%  อัตราผลตอบแทนเหล่านี้ เป็นอัตราผลตอบแทนระยะสั้นตามปกติของตลาด หรือ เป็นอัตราผลตอบแทนคาดการณ์แบบมีเหตุผล 

ระยะสั้นผลตอบแทนตามปกติของตลาดอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปีหมายความว่า มีเงินลงทุน 100 บาท สิ้นปีจะได้ 3 บาท ดังนั้น การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง อาทิ 40% ต่อปี หรือ 30% ต่อเดือน จึงเป็นไปไม่ได้ และไม่สอดคล้องกับผลตอบแทนคาดการณ์แบบมีเหตุผล

เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจมหภาคโดยใช้แนวคิดการคาดการณ์แบบมีเหตุผล เศรษฐกิจถูกคาดว่าจะอยู่ที่ระดับธรรมชาติ (Natural level) หรือระดับศักยภาพ (Potential level) และการขยายตัวของเศรษฐกิจจะถูกคาดว่าเป็นการขยายตัวตามศักยภาพ (Potential growth) 

สำหรับเศรษฐกิจไทย ระดับธรรมชาติของผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 3 ทศวรรษ ปี 2534 การเติบโตตามศักยภาพอยู่ที่ 8.75% และลดลงเรื่อยมา วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ดึงศักยภาพทางเศรษฐกิจลงอย่างเห็นได้ชัด การลงทุนก่อนปี 2540 อยู่ที่เกือบ 40% ของ GDP แต่หลังจากปี 2540 การลงทุนต่อปีเฉลี่ยเหลืออยู่ที่ประมาณ 15% ของ GDP 

หลังจากปี 2540 การขยายตัวตามศักยภาพของไทยต่ำกว่า 4% มาโดยตลอดซึ่งมีช่วงถึง 4% คือ ช่วงระหว่างปี 2547 ถึง 2550 และหลังจากปี 2557 เป็นต้นมาศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ต่ำกว่า 3% และโควิด-19 ในปี 2563 ซ้ำเติมส่งผลให้ศักยภาพการเติบโตต่ำลงไปอีก 

การลดลงอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานานของการเติบโตของระดับธรรมชาติของผลผลิต ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไม่ตก ข้อมูลจากสภาพัฒน์ ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.8% 

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างน้อยๆ ไม่ควรต่ำกว่า 4.5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ทศวรรษ ซึ่งจะส่งผลให้ยกระดับธรรมชาติของผลผลิตของไทยเพิ่มขึ้น ส่วนในระยะสั้น เราต้องการลดความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยพยายามให้เศรษฐกิจอยู่ที่ระดับธรรมชาติให้มากที่สุด โดยที่หวังว่าระดับธรรมชาติจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมจากการลงทุน รัฐบาลควรมีแนวทางและนโยบายในการเพิ่มการลงทุนให้กับประเทศไทย โดยที่ไม่ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ย ที่ถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย  

ระดับธรรมชาติ หรือ ศักยภาพมีความสำคัญต่อการเพิ่มของรายได้ต่อหัวอย่างยั่งยืน สามารถยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นเป็นกุญแจนำไปสู่การเติบโต และความมั่งคั่งของเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไทย 

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระดับธรรมชาติ คือ การเติบโตของแรงงาน การสะสมทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน การพัฒนาทางเทคโนโลยี ซึ่งมาจากทุนมนุษย์ และการทำวิจัยและพัฒนา ศักยภาพการผลิตของแรงงาน 

สำหรับประเทศไทยแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพการผลิตของแรงงานไทย การพัฒนาปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง 

รัฐบาลควรต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจน และมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการเพิ่มระดับศักยภาพของประเทศ มากกว่าแนวนโยบายที่หวังผลในระยะสั้น