นโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง เมื่อพิจารณาจากยอดจองและยอดขาย ตัวเลขยอดจองจากงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ MOTOR EXPO 2024 สูงถึง 5.4 หมื่นคัน จำแนกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) รถยนต์ไฮบริด (HEV) และ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จำนวน 58.7% และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน (BEV) จำนวน 41.3 % เพิ่มขึ้นจาก 38.4% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2566
โดย 3 อันดับแบรนด์รถยนต์ที่มียอดจองสูงสุด ยังคงเป็น TOYOTA BYD และ HONDA ในขณะที่ฝั่งของยอดขาย ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า เดือนมกราคม - ตุลาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 82,304 คัน เพิ่มขึ้น 6.12% จากเดือนมกราคม - ตุลาคม 2566
มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้านี้ เป็นตัวอย่างของนโยบายอุตสาหกรรม (Industrial Policy) ซึ่งเป็นการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งในรูปของตัวเงินและมิใช่ตัวเงินในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด เพื่อให้อุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถเติบโตได้
โดยนโยบายส่งเสริม EV ของไทยครอบคลุมถึงมาตรการทั้งทางด้านอุปสงค์ และอุปทาน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการผลิต EV ในประเทศ และมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3 และ EV3.5 ที่รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี ซึ่งสามารถกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อเป้าหมายในการรักษาไทยให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก และเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมกับนโยบาย 30@30 หรือการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030
นโยบายอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อการผลิตและการบริโภคเท่านั้น แต่ยังสร้างให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก
จากงานศึกษาของ Barwick et al. 2024 ที่ได้มีการรวบข้อมูลนโยบายอุตสาหกรรมโดยการเก็บข้อมูลมาตรการอุดหนุน EV ของประเทศต่างๆ และสถิติการจดสิทธิบัตรในอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ปี 2008-2023 ในรูปที่ 1 พบว่า จำนวนนโยบายอุตสาหกรรมที่มุ่งเป้ายานยนต์เพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 100 นโยบายในปี 2009 ไปสู่มากกว่า 300 นโยบาย ในปี 2022
นอกจากนี้ สัดส่วนของนโยบายอุตสาหกรรม ที่มุ่งเป้า EV โดยเฉพาะเริ่มจากไม่มีเลย ไปสู่กว่าครึ่งหนึ่งของการออกนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด ในปี 2022 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนโยบายอุตสาหกรรมมุ่งเป้า EV นี้ทำให้เห็นถึงแนวโน้มของโลกที่กำลังมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสหากรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน และตอกย้ำความสำคัญของนโยบายส่งเสริม EV ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
หมายเหตุ: รูปที่ 1 แผนภูมิแท่ง (แกนซ้าย) แสดงถึงจำนวนนโยบายอุตสาหกรรมที่มุ่งเป้าตลาดยานยนต์ และกราฟเส้น (แกนขวา) สัดส่วนของนโยบายอุตสาหกรรมมุ่งเป้า EV ที่มา: Barwick et al. 2024
เมื่อพิจารณาดูตัวเลขของนวัตกรรม ที่วัดจากสถิติการจดสิทธิบัตร เปรียบเทียบระหว่างเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน (Gasoline Vehicle: GV) และเทคโนโลยีที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เห็นได้ชัดว่า มีการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์ใช้น้ำมันไปสู่เทคโนโลยีในรถยนต์ไฟฟ้า
ภายหลังปี 2000 นวัตกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ช่วงกลางของยุค 2000 โดยที่นวัตกรรมที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าสูงกว่านวัตกรรมเกี่ยวกับยานยนต์ที่ใช้น้ำมันถึง 3 เท่า
นโยบายอุตสาหกรรมมุ่งเป้า EV ส่งผลให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ หลักฐานเชิงประจักษ์จากงานศึกษาของ Barwick et al. 2024 ในรูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของจำนวนการจดสิทธิบัตรใหม่ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและจำนวนนโยบายอุตสาหกรรมมุ่งเป้า EV สะสมในแต่ละประเทศ ปรากฏการณ์สองแบบที่พบ คือ
ประการแรก มีการกระจุกตัวของข้อมูลในช่วงใกล้จุดกำเนิดแสดงถึงกลุ่มตัวอย่างของงานศึกษา ที่ส่วนใหญ่ไม่มีการจด สิทธิบัตรใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ EV
และ ประการที่สอง ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการจดสิทธิบัตรใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ EV กับนโยบายอุตสาหกรรมมุ่งเป้า EV สะสมในประเทศ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้นโยบายอุตสาหกรรม EV ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์สะอาด สะท้อนผลลัพท์ที่ได้จากการทำนโยบายส่งเสริม EV ที่ไม่ได้มีเฉพาะผลลัพท์ด้านอุปทานหรืออุปสงค์เท่านั้น
รูปที่ 2 ความสัมพันธ์เชิงประจักษ์ระหว่างการจดสิทธิบัตรใหม่และนโยบาย EV สะสม
หมายเหตุ: รูปที่ 2 แสดงถึงความสมพันธ์ระหว่างนโยบาย EV ในปี t-1 (แกนนอน) และจำนวนการจดสิทธิบัตรใหม่ของ EV/GV ในปี t (แกนตั้ง) จุดและเส้นสีเขียวแสดงถึงการจดสิทธิบัตร EV และ จุดและเส้นสีน้ำเงินแสดงถึงการจดสิทธิบัตร GV ที่มา: Barwick et al. 2024
นโยบายอุตสาหกรรมส่งเสริมตลาดยานยต์ไฟฟ้าของไทยทำให้วันนี้ตลาด EV “จุดติด” แล้ว แต่อย่าลืมผลลัพท์ทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ไทยต้องให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน
การเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้า หรือ Original Equipment Manufacturer คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของไทยยั่งยืน เพราะท้ายที่สุดแล้วกุญแจสู่ความสำเร็จคงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม
เห็นได้จากจำนวนสิทธิบัตรของค่ายรถยนต์ไฟฟ้ายักษใหญ่อย่าง BYD ของจีน ที่มีการจดสิทธิบัตรมากกว่า 13,000 ฉบับระหว่างปี 2003-2022 ในขณะที่ฝั่ง Tesla ของฝั่งสหรัฐมีการจดสิทธิบัตรในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 863 ฉบับ